วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2553

นรกใหญ่ - น้อย

             นรกใหญ่ - น้อย

คำว่า นรก แปลว่า เหวในภาษาบาลีมักเรียกว่า นิรยะ แปลว่า สถานที่ไม่มีความเจริญ คือไม่มีสุข มีแต่ทุกข์ทรมาน คำว่า “นิรยะ” หรือ “นรก” ใช้หมายถึงสถานที่ทรมานสัตว์ทำบาปดั่งกล่าวเช่นเดียวกัน นรกที่เป็นขุมใหญ่ มี ๘ ขุม คือ



       ๑. สัญชีวะ แปลว่าคืนชีวิตขึ้นเอง คือสัตว์นรกในขุมนี้ถูกตัดเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่แล้วก็กลับคืนชีวิตขึ้นมาเองอีก รับการทรมานอยู่ร่ำไป ในคัมภีร์มหายานของธิเบต แสดงว่านรกขุมนี้สำหรับบาปที่ทำฆาตกรรมตนเอง ทำฆาตกรรมผู้อื่น หมอที่ทอดทิ้งฆ่าคนไข้ของตน ผู้จัดการทรัพย์มรดกที่คดโกง และผู้ปกครองที่โหดร้ายเบียดเบียนประชาชน

        ๒. กาฬสุตตะ แปลว่าเส้นดำ คือสัตว์นรกในขุมนี้ถูกขีดเป็นเส้นดำที่ร่างกาย เหมือนอย่างตีเส้นที่ต้นซุงเพื่อจะเลื่อย แล้วถูกผ่าด้วยขวานเป็น ๘ เสี่ยง ๑๖ เสี่ยง แต่ตามคัมภีร์ธิเบตกล่าวว่าถูกเลื่อยด้วยเลื่อย และกล่าวการลงโทษอีกอย่างหนึ่ง คือลากลิ้นออกมาตอกและไถด้วยไถเหล็กแหลมเป็นจัก ๆ สำหรับบาปที่พูดส่อเสียดยุยงให้เขาแตกกัน และเข้าไปยุ่งเกี่ยวขัดขวางกิจการของผู้อื่น และแสดงโดยทั่วไปว่า นรกขุมนี้สำหรับบาปที่แสดงความไม่นับถือลบหลู่หมิ่นมารดา บิดา พระรัตนตรัย หรือพระศาสนา


       ๓. สังฆาฏะ แปลว่า กระทบกัน คือมีภูเขาเหล็กคราวละ ๒ ลูกจากทิศที่ตรงกันข้ามเลื่อนเขามากระทบกันเอง บดสัตว์นรกในระหว่างแหลกละเอียด จาก ๔ ทิศก็เป็นภูเขา ๔ ลูก เลื่อนเข้ามากระทบกันตลอดเวลา ในคัมภีร์มหายานของ ธิเบตกล่าวว่า ภูเขาศีรษะเป็นสัตว์หรือเป็นเหล็กใหญ่รูปอย่างหนังสือ เลื่อนเข้ามาบดขยี้สัตว์เช่นเดียวกัน และกล่าวว่านรกขุมนี้สำหรับพวกพระ คฤหัถส์ และคนที่ไม่เชื่อในศาสนา ซึ่งลบหลู่ดูหมิ่นหรือทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของพระคัมภีร์ และสำหรับพวกพระที่สะสมเงินเป็นก้อน ซึ่งพวกตนไม่ได้ประกอบการงานและแสดงการทรมานอีกอย่างหนึ่ง คือบดตำในครกเหล็ก ตีบนทั่งเหล็ก สำหรับทรมานผู้ทำโจรกรรม ผู้ที่มีสันดานร้ายกาจด้วยความโกรธริษยา โลภอยากได้ ผู้ที่ใช้เครื่องชั่งดวงวัดโกง และผู้ที่ทิ้งขยะมูลฝอยหรือสัตว์ตายลงในถนนหนทางสาธารณะ


       ๔.โรรุวะ แปลว่า ร้องครวญคราง คือมีเปลวไฟเข้าไปทางทวารทั้งเก้าเผาไหม้ในสรีระ จึงร้องครวญครางเพราะเปลวไฟ (ชาลโรรุวะ) บางพวกถูกหมอกควันต่าง ๆ (กรด) เข้าไปละลายสรีระจนละเอียดเหมือนแป้ง จึงร้องครวญครางเพราะหมอกควัน (ธูมโรรุวะ) ในคัมภีร์ธิเบตกล่าวว่า กรอกน้ำเหล็กแดงอันร้อนแรงทางปากผ่านลำคอลงไป สำหรับบาปที่กั้นปิดทางน้ำเพื่อประโยชน์ของตน แช่งด่าดินฟ้าอากาศ ทำลายพืชพันธุ์ธัญญาหารให้เสียหาย
 
        ๕. มหาโรรุวะ แปล่า ร้องครวญครางมาก คือเป็นที่ทุกข์ทรมานยิ่งกว่าข้อ ๔ ในคัมภีร์ธิเบตกล่าวว่าสำหรับพาหิรชนคนบาปหนา



         ๖. ตาปนะ แปลว่า ร้อน ได้แก่ถูกให้นั่งเสียบตรึงไว้ด้วยหลาวเหล็กบนแผ่นดินเหล็กแดง ลุกเป็นไฟร้อนแรง บ้างก็ถูกต้อนขึ้นไปบนภูเขาเหล็กแดงเป็นไฟลุกโพลง ลูกลมพัดตกลงมา ถูกเสียบด้วยหลาวเหล็กที่โผล่ขึ้นมาจากแผ่นดินเหล็กแดง ในคัมภีร์ธิเบตกล่าวว่าถูกขังอยู่ในห้องเหล็กแดงเป็นไฟร้อนแรง สำหรับบาปที่ปิ้งทอดหรือเสียบสัตว์ปิ้งเป็นอาหาร


         ๗. ปตาปนะ แปลว่า ร้อนสูงมาก คือเป็นที่ทุกข์ทรมานยิ่งกว่าข้อ ๖ ในคัมภีร์ ธิเบตกล่าวว่า ถูกทิ่มแทงด้วยหอกสามง่ามล้มกลิ้งลงไปบนพื้นเหล็กแดงอันร้อนแรง สำหรับบาปที่ละทิ้งพระศาสนา (เลิกนับถือ) หรือปฏิเสธความจริง

         ๘. อวีจิ แปลว่า ไม่มีระหว่าง คือไม่เว้นว่าง บางทีเรียก มหาอวีจิ แปลว่า อเวจีใหญ่ ภาษาไทยมักเรียกว่า อเวจี เปลวไฟนรก ในนรกขุมนี้ลุกโพลงเต็มทั่วไปหมด ไม่มีระหว่างหรือเว้นว่าง สัตว์นรกในขุมนี้ก็แน่นขนัดเหมือนยัดทะนาน ไม่มีระหว่างหรือเว้นว่าง แต่ก็ไม่เบียดเสียดกันอย่างวัตถุ ต่างถูกไฟไหม้อยู่ในที่เฉพาะตน ๆ และความทุกข์ทรมานของสัตว์นรกในขุมนี้ ก็บังเกิดขึ้นสืบเนื่องกันไป ไม่มีระหว่างหรือเว้นว่าง ฉะนั้นจึงเรียกว่า อวีจิ หรือ อเวจี ซึ่งมีคำแปลดั่งกล่าว ในคัมภีร์ทางธิเบตกล่าวว่า สำหรับบาปที่ถือว่าเป็นอุกฤษฏ์โทษตามลัทธิลามะ แต่ฝ่ายเถรวาทแสดงว่าสำหรับบาปที่เป็นอนันตริยกรรม


เครื่องทรมานในนรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุมดั่งกล่าว มีเหล็ก เช่น พื้นแผ่นดินเหล็กและเครื่องอาวุธเหล็กต่าง ๆ มีไฟ คือเหล็กนั่นแหละลุกเป็นไฟร้อนแรง มีภูเขาเหล็กที่กลิ้งมาบด และมีหมอกควันชนิดเป็นกรดหรือด่าง

ในขุมนรกที่ ๑ และที่ ๒ มีนาย นิรยบาล แปลว่า ผู้รักษานรก ไทยเราเรียกว่า ยมบาล เป็นผู้ทำการทรมานสัตว์นรก แต่นรกขุมที่ลึกลงไปกว่านั้น ในอรรถกถาสังกิจจชาดกไม่ได้กล่าวถึงนายนิรยบาล กล่าวถึงไฟ เหล็ก เช่น เครื่องอาวุธต่าง ๆ เป็นต้น บังเกิดขึ้นทรมานสัตว์นรกเอง

นรกน้อย-นรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุม มีนรกเล็กเป็นบริวารล้อมรอบ ๔ ด้าน ด้านละ ๔ ขุม รวม ๑๖ ขุม ในไตรภูมิพระร่วงเรียกว่า “ฝูงนรกบ่าว” รวมนรกบริวารของนรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุมได้ ๑๒๘ ขุม รวมนรกใหญ่อีก ๘ ขุม เป็น ๑๓๖ ขุม นรกบริวาร มีชื่อดังนี้
 
         ๑. เวตรณีนรก แปลว่า นรกแม่น้ำเวตรณี แปลว่า ข้ามยาก คือเป็นแม่น้ำต่างที่ร้อนเดือดพล่าน เรียกว่า เวตรณี บัวและสิ่งต่าง ๆ ในแม่น้ำนั้นเป็นอาวุธทั้งสิ้น นายนิรยบาลตกเบ็ดสัตว์นรกอีกด้วย สำหรับบาปที่ประกอบกรรมหยาบชาเบียดเบียนผู้ที่อ่อนแอกำลังกว่า



        ๒. สุนขนรก แปลว่า นรกสุนัข คือมีฝูงสุนัขขาว แดง ดำ เหลือง และฝูงแร้งกากลุ้มรุมกัดตีจิกทรมาน สำหรับบาปที่กล่าวร้ายด่าว่าสมณพราหมณ์และท่านผู้มีคุณ


       ๓. สัญโชตินรก แปลว่า นรกไฟโพลง คือสัตว์นรกในขุมนี้มีสรีระลุกเป็นไฟโพลงแผดเผา ทั้งถูกทรมานต่าง ๆ สำหรับบาปที่ประกอบกรรมหยาบช้าเบียดเบียนบุรุษสตรีที่เป็นคนดีมีศีลธรรมไม่มีความผิด


      ๔. อังคารกาสุนรก แปลว่า นรกหลุมถ่านเพลิง คือตกลงไปไหม้ทรมานในหลุมถ่านเพลิง สำหรับบาปที่ฉ้อโกง เบียดบัง ถือเอาทรัพย์ที่เขาบริจาคเพื่อการกุศล หรือชักชวนให้เขาบริจาค อ้างว่าเพื่อการกุศล ได้ทรัพย์มาแล้วถือเอาเสียเอง แลสำหรับบาปที่เป็นหนี้ทรัพย์ผู้อื่นแล้วโกงหนีนั้


      ๕. โลหกุมภีนรก แปลว่า นรกหม้อโลหะ ไทยเราเรียกว่า นรกหม้อทองแดง เป็นที่ตกลงไปไหม้ทรมาน สำหรับบาปที่ทุบตีเบียดเบียนสมณพราหมณ์ผู้มีศีล


       ๖. คีวลุญจนรก แปลว่า นรกที่ดึงคอให้หลุด คือถูกเอาเชื่อกพันคอดึงจุ่มลงไปในน้ำร้อนในหม้อทองแดงให้คอหลุดทรมาน สำหรับบาปที่ประกอบกรรมหยาบช้า เบียดเบียน ทำลายหมู่เนื้อนก (นรกขุมนี้ในไตรภูมิพระร่วงเรียก" “โลหกุมภี” เหมือนกัน)


       ๗. ถุสปลาสนรก แปลว่า นรกข้าวลีบและแกลบ คือสัตว์นรกขุมนี้ลงไปวักน้ำในแม่น้ำนรกดื่มด้วยความกระหาย น้ำที่ดื่มไปนั้นก็กลายเป็นข้าวลีบและแกลบไฟ ไหม้ร่างกายทั้งหมดเป็นการทรมาน สำหรับบาปที่เอาข้าวลีบแกลบหรือฟางปนข้าวเปลือกลวงขายว่าข้าวดี (เอาข้าวสารไม่ดีปนข้าวดีลวงขายว่าข้าวดี ก็น่าจะอยู่ในนรกขุมนี้)


       ๘. สัตติหตสยนรก แปลว่า นรกที่แทงด้วยหอกจนล้มลง หรือสัตว์นรกในขุมนี้ถูกแทงด้วยอาวุธต่าง ๆ จนตัวพรุนอย่างในไม้เก่า สำหรับบาปที่ประกอบกรรมมิชอบ เลี้ยงชีวิตด้วยอทินนาทานต่าง ๆ มีปล้นสะดม ขโมย ฉ้อโกง ทุจริต เบียดบัง เป็นต้น


       ๙. วิลกตนรก แปลว่า นรกแล่เนื้อ คือแล่เนื้อสัตว์นรกออกเป็นชิ้น ๆ สำหรับบาปที่ประกอบกรรมหยาบช้า ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

       ๑๐. ปุราณมิฬหนรก แปลว่า นรกมูตรคูถหรือนรกอาจมเก่า คือสัตว์นรกในขุมนี้กินอาจมเก่าที่เหม็นนักหนาและลุกเป็นควันหรือเป็นไฟร้อนแรง สำหรับบาปที่ประทุษร้ายเบียดเบียนมิตรสหาย หรืออาศัยกินข้าวเขาแล้วยังขู่เอาทรัพย์ของเขา หรือเจ้าหน้าที่ผู้ขูดรีด


       ๑๑. โลหิตปุพพนรก แปลว่า นรกน้ำเลือดน้ำหนอง คือสัตว์นรกในขุมนี้อยู่ในแม่น้ำแห่งเลือดและหนอง หิวกระหาย กินน้ำเลือดน้ำหนองซึ่งร้อนเป็นไฟเข้าไปลวกไหม้ทรมาน สำหรับบาปที่ทำร้ายมารดาบิดาและท่านที่มีคุณควรกราบไหว้บูชาทั้งหลาย


       ๑๒. อยพลิสนรก แปลว่า นรกเบ็ดเหล็ก (หรือเรียกว่าโลหพลิสนรก) คือสัตว์นรกในขุมนี้ถูกเบ็ดเหล็กร้อนแดงเกี่ยวลิ้นลากออกมา ให้ล้มไปทามานบนพื้นเหล็กแดงแรงร้อน สำหรับบาปที่กดราคาของซื้อ โก่งราคาของขายเกินควร และใช้วิธีชั่งดวงวัดคดโกงด้วยโลภเจตนา


       ๑๓. อุทธังปาทนรก แปลว่า นรกที่จับเท้ายกขึ้นเบื้องบน ทิ้งลงไปให้ลมฝังลงไปแค่สะเอว แล้วยังมีภูเขากลิ้งจากทิศทั้ง ๔ มาบดทามาน เป็นนรกสำหรับสตรีที่นอกใจสามี เป็นชู้ด้วยชายอื่น(นรกแยกเพศเฉพาะหญิง)
 
       ๑๔. อวังสิรนรก แปลว่า นรกที่จับศีรษะห้อยลงเบื้องต่ำ ทิ้งลงไปให้ไหม้ทรมานเช่นเดียวกัน เป็นนรกสำหรับบุรุษที่เป็นชู้ด้วยภรรยาของคนอื่น (นรกแยกเพศเฉพาะชาย)



       ๑๕. โลหสิมพลีนรก แปลว่า นรกต้นงิ้วเหล็ก คือ สัตว์นรกในขุมนี้ตองปีนต้นงิ้วเหล็กมีหนามเหล็กแหลมแดงเป็นเปลวไฟร้อนแรง สำหรับบาปผิดศีลข้อ ๔ ทั้งชายและหญิง (นรกสหเพศ หรือสหนรก)


        ๑๖. ปจนนรก แปลว่า นรกหมกไหม้ (หรือเรียกวามิจฉาทิฏฐินรก) คือสัตว์นรกในขุมนี้ต้องถูกหมกไหม้และถูกทิ่มแทงทรมาน สำหรับบาปที่เป็นมิจฉาทิฏฐิคือเห็นผิด ว่าผลทานผลศีลไม่มี ผลกรรมดีกรรมชั่วไม่มี คุณมารดาบิดาไม่มี คุณสมณพราหมณ์ไม่มี เป็นต้น


 นรก ๑๖ ขุมนี้มีในไตรภูมิพระร่วง ส่วนในเนมิราชชาดก มีเพียง ๑๕ ขุม เว้นนรกสหเพศ (ขุมที่ ๑๕) ขาดไป เพราะมีนรกแยกเพศอยู่แล้ว จึงยังมีที่สำหรับผู้ผิดศีลข้อ ๓ ไปได้อยู่ เป็นแต่ต้องแยกกันอยู่คนละแห่ง


นรกทั้ง ๑๖ ขุมนี้ ท่านว่ายัดเยียดเสียดเต็มไปด้วยสัตว์นรก จึงเรียกว่า อุสสทนรก แปลว่า นรกยัดเยียดเบียดเสียด เป็นนรกบริวาร ซึ่งอยู่ ๔ ด้านของสัญชีวนรก ซึ่งเป็นนรกใหญ่ขุมที่ ๑ มีนายนิรยบาลเป็นผู้ทำหน้าที่ทรมานประจำอยู่ทุกขุม เป็นจำพวกนรกร้อนเช่นเดียวกัน


ส่วนนรกบริวารของนรกใหญ่อีก ๗ ขุม ยังไม่พบแสดงไว้ นอกจากนี้ยังกล่าวว่ามีนรกอนุบริวารถัดออกไป อยู่รอบนอกของนรกบริวารทั้ง ๑๖ นั้นอีกมากมาย สัตว์นรกทั้งปวงที่ถูกทรมานอยู่ในนรกจะไม่ตาย รับการทรมานต่อไปจนกว่าจะสิ้นกรรม
นำตัวคนบาปไปสู่การพิจารณาของยมบาล (พญายม) แล้วถูกนำตัวไปสู่นรก พรรณนานรกเพี้ยนกันไป เช่น
 
ในเทวทูตสูตร เล่าไว้ว่า สัตว์(คน) ผู้ประกอบด้วยทุจริตทางกาย วาจาและใจ ติเตียน ด่าว่าคนดี ประเสริฐ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือกรรมของคนมิจฉาทิฏฐิ ครั้นกายแตกสลายตายลง นายนิรยบาลจับไปแสดงแก่ยมราชขอให้ลงโทษ ยมราชซักถามว่า เคยเห็นเทวทูต ๕ คือ เด็กแรกคลอด คนแก่ คนเจ็บ คนถูกราชทัณฑ์ คนตาย บ้างหรือไม่ เมื่อผู้นั้นตอบว่าเคยเห็น ก็ซักต่อไปว่า ได้เคยคิดบ้างหรือไม่ว่าเรามีความเกิดเป็นธรรมดา มีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บเป็นธรรมดา ผู้ทำกรรมชั่วก็จะต้องถูกลงราชทัณฑ์ต่าง ๆ ในปัจจุบัน และเรามีความตายเป็นธรรมดา เอาละ เราจะทำกรรมที่ดีงาม ทางกาย วาจา ใจ ต่อไป เมื่อผู้นั้นกล่าวว่าไม่ได้คิดมัวประมาทไปเสีย ยมราชจึงกล่าวว่า เจ้ามีความประมาท จึงไม่ทำกรรมงามทางกาย วาจา ใจ ก็จักทำเจ้าให้สาสมกับที่ประมาทไปแล้ว บาปกรรมนั้น มารดาบิดาเป็นต้น ไม่ได้ทำให้เจ้า เจ้าทำเอง ก็จักเสวยวิบากของกรรมนั้นเอง เมื่อยมราชว่าดั่งนี้แล้วก็นิ่งอยู่



นายนิรยบาลทั้งหลายก็จะทำกรรมกรณ์ มีพันธนะ (การผูกตรึง หรือจองจำ) ๕ อย่าง ได้แก่ ตรึงดุ้นเหล็กอันร้อนที่มือ ๒ ข้าง ที่เท้า ๒ ข้าง และที่กลางอก เขาเสวยเวทนาเผ็ดร้อน แต่ไม่ทำกาลกิริยาจนกว่าบาปกรรมนั้นจะสิ้นไป ต่อจากนี้แสดงวิธีทรมานที่ยิ่งขึ้นไป คือ


๑. นายนิรยบาลถากด้วยผึ่ง


๒. จับตัวให้หัวห้อยเท้าชี้ฟ้า ถากด้วยพร้า


๓. เอาตัวเทียมรถให้วิ่งไปวิ่งมาบนพื้นอันร้อนโชน


๔. ให้ขึ้นภูเขาถ่านเพลิงอันร้อนโชน


๕. จับตัวเอาหัวห้อยเท้าชี้ฟ้า ทิ้งลงไปในโลหกุมภี (หม้อเหล็ก) อันร้อนโชน ถูกเคี่ยวอยู่ในนั้นผุดเป็นฟอง ผุดขึ้นข้างบนบ้าง จมลงข้างล่างบ้าง รี ๆ ขวาง ๆ บ้าง แต่ก็ไม่ตาย


ต่อจากนี้แสดงถึงมหานิรยะ ว่า นานิรยบาล ใส่ลงไปในมหานิรยะ (นรกใหญ่) ได้แก่ อเวจีนรก ซึ่งเป็นนรกใหญ่ขุมที่ ๘ ที่กล่าวแล้ว) นรกใหญ่นั้นมีสัณฐานเป็น ๔ เหลี่ยม มี ๔ ประตู (ด้านละ ๑ ประตู) ภายในจัดเป็นส่วน ๆ มีกำแพงเหล็กล้อมครอบข้างบนด้วยเหล็ก พื้นเป็นเหล็กร้อนโชนเป็นเปลวไฟแผ่ไป ๑๐๐ โยชน์ โดยรอบ เปลวไฟเกิดจากฝาทั้ง ๔ ทิศ พุ่งไปกระทบฝาด้านตรงกันข้าม สัตว์นรกเผาไหม้ดั่งนั้นก็ไม่ตาย บางคราวเห็นประตูด้านใดด้านหนึ่งเปิด ก็วิ่งไปเพื่อจะหนี ผิวหนัง เนื้อ เอ็นไหม้ กระดูกร้อนเป็นควัน ไปยังไม่ทันถึง ประตูปิดเสีย


           เทวทูต

          เทวทูต แปลว่า ทูตของเทวะ อะไรคือเทวะ ยกตัวอย่างว่า มัจจุ (ความตาย) ชื่อว่าเทวทูตของมัจจุ ได้แก่ทุกสิ่งที่เตือนว่าใกล้ความตายเข้าทุกที เช่น เมื่อเส้นผมบนศีรษะหงอก ก็เป็นเครื่องเตือนใจว่าใกล้ความตายแล้ว ผมหงอกจึงเป็นเทวทูตอย่างหนึ่ง ทุก ๆ สิ่งที่เป็นลักษณะแห่งเกิด แก่ เจ็บ ตาย และราชทัณฑ์ ชื่อว่าเทวะทั้งนั้น และเพราะเป็นเครื่องเตือนใจเหมือนอย่างทูตมาบอกข่าว จึงเรียกว่า เทวทูต

           อีกอย่างหนึ่ง เทวทูต แปลว่า ทูตเหมือนเทพยดา คล้ายคำว่า ทูตสวรรค์ คือ เหมือนเทวดามาบอกเตือนให้ไม่ประมาท อีกอย่างหนึ่ง เทวทูต แปลว่า ทูตของวิสุทธิ-เทพ หมายถึงพระอรหันต์ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เพราะได้สอนให้พิจารณาเนือง ๆ เพื่อความไม่ประมาท ฉะนั้น เมื่อเห็นเทวทูต ก็ย่อมจะไม่ประมาทและเว้นทุจริตต่าง ๆ ได้ ส่วนคนที่ประพฤติทุจริตต่าง ๆ นั้น ก็เพราะไม่เห็นเทวทูตมาตักเตือนใจ จึงเป็นผู้ประมาทมัวเมาต่าง ๆ แม้จะได้พบเห็นคนเกิด แก่ เจ็บ ตาย และคนถูกลงราชทัณฑ์ แต่ก็ไม่ได้ข้อเตือนใจ เทวทูตก็ไม่ปรากฏ เรียกว่าไม่เห็นเทวทูตนั่นเอง ฉะนั้น คนที่ทำบาปทุจริตทั้งปวงเรียกว่าไม่เห็นเทวทูตทั้งนั้น ตามที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า เทวทูตไม่อาจจะเห็นได้ด้วยตาธรรมดา จะเห็นได้ด้วยตาปัญญา เช่นเดียวกับเทวดา (ตามที่เชื่อถือกัน) ตาธรรมดามองไม่เห็น น่าจะเรียกว่าเทวทูต เพราะมีแยบยลดั่งกล่าวนี้ด้วย


         ครั้นยมราชซักแล้ว ปรากฏว่าผู้นั้นไม่เห็นเทวทูต คือได้ทำบาปทุจริตแล้ว ก็นิ่งอยู่หาได้สิ่งให้ลงโทษอย่างไรไม่ การที่ซักถามนั้น ก็เป็นเงื่อนให้คิดว่า เตือนให้ระลึกถึงบุญกุศลคือความดีที่ได้ทำมาแล้วด้วยความไม่ประมาท เพราะได้เห็นเทวทูตในบางครั้งคราว ถ้าไม่ได้ทำกุศลไว้บ้างเลย ก็เป็นการจนใจช่วยไม่ได้ ดูยมราชก็จะช่วยอยู่ เท่ากับเป็นตัวสตินั่นเอง แต่เมื่อช่วยไม่ได้ ไม่ได้สติที่จะระลึกคติธรรมดาและบุญกุศลบ้างเลยแล้ว ก็จำต้องนิ่งอยู่ เหมือนอย่างวางอุเบกขาปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ยมราชจึงไม่ต้องสั่งลงโทษสัตว์ผู้ทำบาปต้องเป็นตามกรรมของตนเอง ตามหลักกรรมในพระพุทธศาสนา เทวทูตสูตร นี้จึงแฝงคติธรรมที่สุขุมมาก แต่แสดงเป็นปุคลาธิษฐาน คือตั้งเรื่องขึ้นเป็นบุคคลมีตัวตนและแสดงนรกตามเค้าคติความคิดเรื่องนรกในชาดกดั่งกล่าวนั่นแหละ แต่ปรับปรุงรวบรัดเข้า

           มหานิรยะที่กล่าวในเทวทูตสูตรก็คือ อวีจินีรยะ หรือ อเวจีนรก อเวจีในชาดกสำหรับบาปหนัก แต่มหานิรยะในพระสูตรเป็นนรกกลางสำหรับบาปทั่วไป เพราะมิได้ระบุประเภท ชนิดของบาปไว้ ทั้งในพระสูตรนี้ยังเอื้อถึงกฎหมายบ้านเมือง แสดงราชทัณฑ์เป็นเทวทูตอย่างหนึ่ง เพราะแม้จะไม่คำนึงถึงคติธรรมดา นึกถึงกฎบ้านเมือง เกรงราชทัณฑ์ ก็ยังช่วยให้ละเว้นทุจริตต่าง ๆ ตามกฎหมายได้ เป็นเค้าเงื่อนให้เห็นความสัมพันธ์แห่งชาติและศาสนาเหมาะดีอยู่ และในเทวทูตสูตรนั้นไม่ได้กล่าวว่านรกอยู่ที่ไหน ต่างจากคติที่กล่าวว่านรกอยู่ใต้แผ่นดินนี้ลงไป ซึ่งพระอาจารย์นำมาอธิบายนรกที่กล่าวในชาดก พิจารณาดูจะเห็นได้ว่า คติความคิดว่านรกอยู่ใต้พื้นแผ่นดิน น่าจะเป็นของเก่ากว่า คือ เก่าแก่มาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล เช่นเดียวกับคติเรื่อง กัป กัลป์ และ ๔ ทวีป แล้วจึงเปลี่ยนแปลงมาเป็นคติความคิดที่ไม่แสดงว่าอยู่ที่ไหน ทั้งในพระสูตรนั้นกล่าวว่า สัตว์นรกไม่ตายจนกว่าจะสิ้นกรรม ต่างจากที่พระอาจารย์อธิบายในชาดกว่าตายแต่เกิดอีกทัน

          นรกรอบนอก


บางคราวสัตว์นรกหนีออกไปได้ทางประตูใดประตูหนึ่ง แต่ก็ไปตกนรกใหญ่ ซึ่งมีอยู่หลายนรกด้วยกัน ตั้งอยู่ถัดกันออกไปโดยลำดับ คือ


         ๑. คูถนิรยะ แปลว่า นรกคูถ มีสัตว์ปากแหลมเหมือนอย่างเข้มพากันบ่อนผิวหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อกระดูก เจ็บปวดรวดร้าวยิ่งนัก แต่ก็ไม่ตาย


         ๒. กุกกุลนิรยะ แปลว่า นรกเถ้ารึง อยู่ถัดจากนรกคูถไป เต็มไปด้วยถ่านเพลิง มีเปลวแรงร้อน สุมเผาให้เร่าร้อน แต่ก็ไม่ตาย


         ๓. สิมพลีวนนิรยะ แปลว่า นรกป่าไม้งิ้ว อยู่ถัดจากนรกเถ้ารึงไป มีป่างิ้วใหญ่ แต่ละต้นสูงตั้งโยชน์ มีหนามยาว ๑๖ นิ้ว ร้อนโชน ถูกให้ปีนขึ้นปีนลงต้นงิ้ว ถูกหนามทิ่มแทงเจ็บปวดร้อนแรง แต่ก็ไม่ตาย


         ๔. อสิปัตตวนนิรยะ แปลว่า นรกป่าไม้มีใบคมดุจดาบ เมื่อถูกลมพัดก็บาดมือ เท้า ใบหูและจมูก ให้เกิดทุกขเวทนาเผ็ดร้อน แต่ก็ไม่ตาย

         ๕. ขาโรทกนทีนิรยะ แปลว่า นรกแม่น้ำด่างหรือน้ำกรด อยู่ถัดไปจากนรกป่าไม้มีใบคมดุจดาบ เป็นที่ตกลงลอยไปตามกระแสบ้าง ทวนกระแสบ้าง รี ๆ ขวาง ๆ เสวยทุกขเวทนาเผ็ดร้อน แต่ก็ไม่ตาย นายนิรยบาลเอาเบ็ดเกี่ยวขึ้นมาบนบก ถามว่าอยากอะไร เขาบอกว่าหิว นายนิรยบาลเอาขอเหล็กแดงงัดปาก ยัดก้อนเหล็กแดงเข้าไป ไหม้ริมฝีปาก ไหม้ปาก คอ อก พาเอาไส้ใหญ่ไส้น้อยออกมาทางเบื้องล่าง แต่ถ้าบอกว่ากระหาย นายนิรยบาลงัดปากเอาทองแดงละลายคว้างกรอกเข้าไปในปาก เผาอวัยวะที่ที่กล่าวแล้วนำออกมาเบื้องล่าง เสวยทุกขเวทนาเผ็ดร้อน แต่ก็ไม่ตาย (นรกแม่น้ำด้างนี้ เรียกว่า นรกแม่น้ำเวตรณี ชื่อเดียวกับนรกบริวารในชาดกที่กล่าวแล้ว) นายนิรยบาลเอาตัวใส่เข้าไปในมหานิรยะอีก ก็จะเสวยทุกขเวทนาแรงกล้าถึงเพียงนั้นก็ไม่ตายจนกว่าจะสิ้นกรรม
 
 
 
 
 
 

1 ความคิดเห็น: