วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ชีตข้อสอบตำรวจชั้นประทวนผู้จบวุฒิปริญญาตรี 2553 เก็งข้อสอบ ข้อสอบแม่นๆ ข้อสอบเก่า

ชีตข้อสอบตำรวจชั้นประทวนผู้จบวุฒิปริญญาตรี 2553 เก็งข้อสอบ ข้อสอบแม่นๆ ข้อสอบเก่า


เปิดสอบตำรวจชั้นประทวนผู้จบวุฒิปริญญาตรี 2553


อัตราที่เปิดรับสมัคร   http://www.policeadmission.com/


คุณสมบัติทั่วไปและคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งของผู้ที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง


1. สายป้องกันปราบปราม (ปป.1) เพศชาย อายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ และไม่เกิน สามสิบห้าปีบริบูรณ์ สูงไม่น้อยกว่า 160 ซม. และรอบอกไมน้อยกว่า 77 ซม.


2. สายอำนวยการและสนับสนุน (อก.2) เพศชายหรือเพศหญิง อายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี บริบูรณ์ และไม่เกินสามสิบห้าปี


บริบูรณ์ เพศชาย สูงไม่น้อยกว่า 160 ซม. และรอบอก ไม่น้อยกว่า77 ซม. เพศหญิง สูงไม่น้อยกว่า 150 ซม.


3. สายอำนวยการและสนับสนุน (อก.3) เพศหญิงอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ และไม่เกิน ยี่สิบห้าปีบริบูรณ์ สูงไม่น้อยกว่า 160 ซม.


4. สายอำนวยการและสนับสนุน (อก.4) เพศชาย อายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ และไม่เกิน ยี่สิบห้าปีบริบูรณ์ สูงไม่น้อยกว่า 170 ซม. และรอบอกไม่น้อยกว่า 77 ซม.


5. สายอำนวยการและสนับสนุน (อก.5) เพศหญิง อายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ และไม่เกิน ยี่สิบห้าปีบริบูรณ์ สูงไม่น้อยกว่า 165 ซม.


6. ตามข้อ 1 – 5 ต้องมีคุณสมบัติทั่วไป และไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามผนวก ก.และ ผนวก ข. ท้ายประกาศนี้ และต้องมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งโดยเป็นผู้สำเร็จการศึกษา ได้รับปริญญาตรี ตามผนวก ค. ท้ายประกาศนี้


รับสมัครระหว่าง วันที่ 11 – 25 กุมภาพันธ์ 2553


"ให้ผู้สมัครใช้ Internet Explorer ในการกรอกข้อมูลสมัครสอบ"


หากต้องการตรวจสอบคุณวุฒิว่าตรงตามประกาศรับสมัคร (ผนวก ค.) หรือไม่ ให้เข้าเว็บไซต์ www.ocsc.go.th

วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2553

วันวิสาขบูชา ตอนวันปรินิพพาน

         วันวิสาขบูชา ตอนวันปรินิพพาน

        วันวิสาขบูชา ตอนวันปรินิพพาน


“หนฺท ทานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ



ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราผู้ตถาคตจักเตือนท่านทั้งหลายให้รู้ว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”


นี่เป็นพระดำรัสสุดท้ายของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงรวบรวมพระโอวาททั้งปวงที่ได้ประทานมาตลอด ๔๕ พรรษานั้นลงในความไม่ประมาท ประทานแด่ภิกษุสงฆ์พุทธบริษัทก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน สืบเนื่องจากเมื่อพระบรมโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พญามารได้เข้ามาทูลอาราธนาให้พระองค์ดับขันธปรินิพพาน คือไม่ยอมให้พระองค์ได้ทำหน้าที่โปรดเวไนยสัตว์ แต่พระพุทธองค์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยมหากรุณาธิคุณได้ตรัสว่า


“ดูก่อนมารผู้ใจบาป ตราบใดสาวกทั้งหลายของตถาคต คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นพหูสูตทรงจำไว้ได้ซึ่งพระธรรมวินัย ศึกษาและปฏิบัติสืบต่อกันไป แสดงหลักธรรมคำสอนโปรดเวไนยสัตว์ ทั้งเทวดาและมนุษย์ให้หลุดพ้นสำเร็จมรรคผลนิพพานได้ ยังศาสนาให้แผ่ไพศาลไปทั่วสารทิศแล้ว ตราบนั้น ตถาคตจะรับอาราธนาท่านเข้าสู่ปรินิพพาน”



ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา พญาวสวัตตีมารพยายามติดตามคอยหาโอกาสตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา เมื่อประสบโอกาส จึงเข้าไปกราบทูลให้เข้าสู่ปรินิพพานอีก ซึ่งในครั้งนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบว่า










“ดูก่อนมารผู้ใจบาป ท่านอย่าได้ทุกขโทมนัสไปเลย อีกไม่ช้าแล้ว ตถาคตก็จักปรินิพพาน นับจากนี้ล่วงไปอีก ๓ เดือนเท่านั้น ตถาคตก็จักเข้าสู่ปรินิพพาน”


พญามารได้ฟังแล้ว ก็เกิดปีติโสมนัส แล้วอันตรธานหายไป ลำดับนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระสติสัมปชัญญะมั่นคง กำหนดปลงพระชนมายุสังขารในวัน “มาฆปุรณมี ณ ปาวาลเจดีย์” ว่า “นับแต่นี้ไปอีก ๓ เดือน ตถาคตจักดับขันธ์เข้าสู่นิพพาน”


เมื่อพระบรมครูกำหนดปลงอายุสังขารดังนั้น ได้บังเกิดเหตุมหัศจรรย์บันดาลให้แผ่นดินหวั่นไหว พระอานนทเถระเกิดความสงสัย จึงเข้าไปกราบทูลถามเหตุแห่งแผ่นดินไหวนั้น พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า


เหตุให้เกิดแผ่นดินไหวนั้น มี ๘ ประการ คือ


๑. ลมกำเริบ


๒. ท่านผู้มีฤทธิ์บันดาล


๓. พระโพธิสัตว์จุติจากดุสิตเทวโลกลงสู่พระครรภ์


๔.พระโพธิสัตว์ประสูติ


๕. พระตถาคตเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ


๖.พระตถาคตทรงแสดงพระธรรมจักรกัปปวัตนสูตร


๗. พระตถาคตเจ้าปลงอายุสังขาร


๘. พระตถาคตเจ้าปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน






ดูก่อนอานนท์ บัดนี้ ตถาคตรับนิมนต์จากพญาวสวัตตีมารให้ดับขันธปรินิพพานและปลงอายุสังขารแล้ว จากนี้ไปอีก ๓ เดือน ก็จะปรินิพพาน เพราะฉะนั้น แผ่นดินจึงไหว”




พระอานนท์กราบทูลวิงวอนขอให้พระพุทธองค์ทรงพระชนม์อยู่ต่อไปอีกจนสิ้นกัปหนึ่ง เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อความสุขแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย พระพุทธองค์ตรัสห้าม แต่พระอานนท์ก็ยังกราบทูลวิงวอนถึง ๓ ครั้ง พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า


“ดูก่อนอานนท์ เธอเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของตถาคตหรือไม่”


“ข้าพระองค์เชื่อ พระเจ้าข้า”


“ดูก่อนอานนท์ ถ้าเธอเชื่อแล้ว เหตุไฉนจึงมาวิงวอนตถาคตถึง ๓ ครั้งเล่า”


“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังพระองค์ตรัสว่า อิทธิบาทสี่ ผู้ใดเจริญจนชำนาญดีแล้ว ถ้าปรารถนาจะมีชีวิตยืนยาวตลอดกัปหนึ่งหรือมากกว่านั้นก็ย่อมกระทำได้ อิทธิบาทสี่นั้น พระองค์เจริญแคล่วคล่องชำนาญแล้ว พระองค์ก็สามารถจะดำรงพระชนม์อยู่ตลอดกัปหนึ่งหรือมากกว่าได้ ข้าพระองค์เห็นดังนี้ จึงกราบทูลวิงวอนถึง ๓ ครั้ง พระเจ้าข้า”


“ดูก่อนอานนท์ ตถาคตทำนิมิตโอภาสให้เธอดูอย่างชัดแจ้งถึง ๑๖ ครั้ง เพื่อให้เธออาราธนาให้ตถาคตดำรงพระชนม์อยู่ แต่เธอก็ไม่รู้ในนิมิตนั้น และไม่ได้อาราธนาวิงวอนตถาคต ถ้าเธอทูลวิงวอนแล้ว ตถาคตก็จะห้ามเพียง ๒ ครั้ง ในครั้งที่ ๓ ตถาคตก็จะรับคำอาราธนานั้น เพราะเธอไม่วิงวอนเสียแต่แรก จึงเป็นความบกพร่องของเธอเอง”















พระบรมศาสดาได้ตรัสเล่าเรื่องนิมิตโอภาสที่ทรงแสดงให้อานนท์ดูถึง ๑๖ ครั้ง แต่เนื่องจากท่านพระอานนท์ถูกพญามารบดบังธาตุธรรม เห็น จำ คิด รู้เอาไว้ ทำให้ท่านลืมอาราธนาไปเสียสนิท อย่างไรก็ตาม พระพุทธองค์ทรงยกใจท่านพระอานนท์ว่า
  


“ดูก่อนอานนท์ สังขารทั้งหลายมีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง และดับสูญสลายไปในที่สุด การระงับดับเสียซึ่งชาติและมรณะ คือพระปรินิพพานนั้นเป็นเอกันตบรมสุขอันหาสิ่งอื่นจะเสมอเหมือนมิได้”


ข่าวการปลงอายุสังขารได้แพร่กระจายไปในหมู่ภิกษุสงฆ์ และลือกระฉ่อนไปถึงเหล่าพุทธบริษัท ผู้ที่เป็นปุถุชนอยู่ครั้นได้สดับแล้วก็ตกใจเสียใจร้องไห้ เพราะไม่อยากให้พระพุทธองค์ผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลกจากไปเร็วนัก ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลายต่างก็เกิดธรรมสังเวชว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ แม้แต่สังขารของพระบรมศาสดายังต้องแตกสลายไปในที่สุด


ภายใน ๓ เดือนก่อนการเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ตอบปัญหาแก่เหล่าพุทธบริษัททั้งมนุษย์และเทวดาที่ทยอยมาเข้าเฝ้าจนคลายความสงสัย ทรงสะสางเรื่องราวทุกอย่างเพื่อให้พระพุทธศาสนาปักหลักมั่นเป็นหลักชัยของมนุษยชาติตราบนานเท่านาน เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงทรงให้โอกาสแก่สงฆ์ทั้งปวงที่ประชุมกัน ได้ทูลถามข้อข้องใจสงสัยต่างๆ แต่ก็มิได้มีภิกษุองค์ใดกราบทูลถาม พระอานนท์จึงกราบทูลว่า


“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุแม้เพียงรูปหนึ่ง ที่มีความสงสัยในพระรัตนตรัย ในมรรคและปฏิปทา ไม่มีเลย ข้อนี้นับเป็นสิ่งอัศจรรย์อย่างยิ่ง”


เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงเห็นว่าเหล่าพระสาวกไม่มีใครสงสัยในธรรมวินัยของพระองค์แล้ว จึงได้ประทานปัจฉิมโอวาทเป็นอมตะวาจาว่า





“ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราผู้ตถาคตจักเตือนท่านทั้งหลายให้รู้ว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”



เมื่อพระบรมศาสดาประทานปัจฉิมโอวาทอันเป็นอมตะวาจาเสร็จสิ้นแล้ว ต่อจากนั้น พระพุทธองค์ก็มิได้ตรัสอะไรอีกเลยทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้วเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้วเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้วเข้าจตุตถฌาน และออกจากจตุตถฌานตามลำดับ ครบองค์รูปาวจรสมาบัติ ทรงออกจากฌานที่ ๔ แล้วเข้าอรูปาวจรสมาบัติ ๔ คือ เข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนะ เข้าวิญญานัญจายตนะ ออกจากวิญญานัญจายตนะ เข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจากอากิญจัญญายตนะ เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ดับจิตสังขาร ทรงเข้าอนุปพพวิหารสมาบัติด้วยประการฉะนี้


ณ ที่นั้น ท่านพระอนุรุทธเถระผู้เลิศด้วยทิพยจักษุอยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย ท่านปรารถนาจะดูการเสด็จปรินิพพานของพระบรมศาสดา จงเข้าสมาบัติตามเสด็จไปทุกห้องแห่งสมาบัตินั้นๆ ส่วนพระอานนท์เห็นพระพุทธองค์สงบนิ่งอยู่ จึงถามพระอนุรุทธเถระว่า


“อนุรุทธ พระบรมครูเข้าสู่พระปรินิพพานแล้วหรือ”


“ยังไม่ปรินิพพาน อานนท์ พระองค์กำลังอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ”


สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอยู่ในนิโรธสมาบัติตามเวลาที่ทรงกำหนดแล้ว ออกจากนิโรธสมาบัติ ย้อนกลับสู่อรูปฌานสี่โดยปฏิโลม แล้วเข้าสู่รูปาวจรฌานทั้ง ๔ โดยปฏิโลมตามลำดับเช่นกัน ครั้นออกจากปฐมฌานแล้ว เข้าทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌานเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อออกจากจตุตฌานในครั้งนี้


      “พระบรมศาสดาก็..ปรินิพพาน..!!!” ณ เวลาปัจฉิมยามแห่งราตรี ในวันวิสาขปุรณมี ดิถีเพ็ญเดือน ๖ ด้วยประการฉะนี้


เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว ท้าวสหัมบดีพรหมได้กล่าวคาถานี้พร้อมกับกาลเป็นที่ปรินิพพานว่า “สัตว์ทุกหมู่เหล่า จักทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลก พระตถาคตผู้ศาสดา ผู้หาบุคคลเปรียบมิได้ในโลก เป็นพระสัมพุทธะผู้เปี่ยมด้วยพระสัพพัญญุตญาณเช่นนี้ ยังปรินิพพานแล้ว”


ฝ่ายท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่ของทวยเทพได้กล่าวคาถานี้ พร้อมกับกาลเป็นที่ปรินิพพานว่า “สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้น และเสื่อมไปเป็นธรรมดาเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความเข้าไปสงบสังขารเหล่านั้นเป็นสุข”





ท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย การเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระบรมศาสดานั้น ทำให้เราได้ตระหนักว่า สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ที่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ แม้กระทั่งตัวของเราเอง ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้




ดูอย่างพระพุทธองค์ผู้เปี่ยมล้นด้วยพุทธบารมีก็ยังต้องถึงวันสุดท้ายของชีวิต คือการเสด็จดับขันธปรินิพพาน แต่เพียงว่าพระพุทธองค์ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดในภพสามอีกแล้ว มีแต่ไปเสวยเอกันตบรมสุขในอายตนนิพพานอย่างเดียว พวกเราทั้งหลายจึงไม่ควรไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ควรมุ่งไปแสวงหาสิ่งที่เป็นสาระที่แท้จริงของชีวิต แสวงหาสิ่งที่จะมาเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง ที่คงความเป็นอมตะ เที่ยงแท้ ไม่แปรผัน คือมีลักษณะเป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีแต่สุขล้วนๆ เป็นตัวของตัวเองได้ กิเลสอาสวะเข้ามาครอบงำบังคับบัญชาไม่ได้ และการที่จะเข้าไปถึงสิ่งที่เป็นอมตะนี้ได้ ท่านให้เข้าไปทางสายกลาง คือ “มัชฌิมา ปฏิปทา” ที่มีอยู่ภายในตัวของทุกคน ด้วยวิธีการทำใจให้หยุดนิ่ง


โอกาสนี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุดในชีวิตของเรา ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มาพบพระพุทธศาสนา ได้รู้จักหนทางแห่งความหลุดพ้น เพราะฉะนั้น อย่าได้ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับสิ่งที่ไร้สาระ ให้รีบประพฤติปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงที่พึ่งที่ระลึกภายใน คือพระรัตนตรัย ที่จะทำให้ชีวิตเราปลอดภัยและมีความสุขไปทุกภพทุกชาติ ตราบวันเข้าสู่พระนิพพาน


พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

วันวิสาขบูชา ตอนวันตรัสรู้

วันวิสาขบูชา ตอนวันตรัสรู้


     “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เอกบุรุษเมื่ออุบัติขึ้นในโลก ย่อมอุบัติเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขของมหาชน เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เอกบุรุษ คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า”
    การที่เราหมั่นตรึกระลึกนึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ จึงถือเป็นการเจริญพุทธานุสติ จะมีอานิสงส์ใหญ่ส่งผลให้เราได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในได้โดยง่าย โดยเฉพาะในเดือนนี้เป็นเดือนวิสาขมาส เป็นเดือนแห่งชัยชนะที่ไม่มีวันกลับแพ้ของพระบรมศาสดาของพวกเราทั้งหลาย เป็นเหตุให้หมู่สัตว์หลุดพ้นจากบ่วงมาร พ้นจากความมืดมิดคืออวิชชา เป็นการปลดแอกที่ไม่ถูกควบคุมด้วยกิเลสอาสวะอีกต่อไป
 
 
 
 
 
 
การที่พระพุทธองค์ ทรงได้รับชัยชนะเหนือพญามาร ในคืนวันเพ็ญดือน



วิสาขมาสนั้น เป็นการประกาศชัยที่ลือลั่นไปทั่วหมื่นโลกธาตุ จึงได้รับการเฉลิมพระนามว่า พระชินเจ้า หรือพระอนันตชิน ซึ่งหมายถึงผู้มีชัยชนะไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อเป็นการระลึกนึกถึงชัยชนะของพระพุทธองค์ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เราจะมาพร้อมใจกันรำลึกถึงชัยชนะอันยิ่งใหญ่ที่ทรงมีเหนือพญามารในวันนั้น เรื่องมีอยู่ว่า
 
 
 
 
 
 
 
 
  พญามารได้ตามรังควานพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรามาตลอดตั้งแต่ครั้งทรงออกผนวช ก็เอาสมบัติจักรพรรดิมาล่อ แต่ไม่สำเร็จ จึงปิดบัง เห็น จำ คิด รู้ ของพระองค์ ไม่ให้รู้หนทางสายกลาง ทำให้ต้องเสียเวลาในการบำเพ็ญเพียรทุกรกิริยานานถึง ๖ ปี แต่ในที่สุดเมื่อบารมีแก่รอบ พระองค์ก็ทรงสามารถเอาชนะพญามารได้ คำว่า มารหรือพญามาร แปลว่า ผู้ขวางความดี ขวางหนทางการสร้างบารมีของผู้ที่คิดจะสร้างบารมี นอกจากขัดขวางแล้ว ยังชักนำให้ทำในสิ่งที่เป็นบาปอกุศลอีกด้วย ให้สร้างกรรมพอกพูนอาสวกิเลสให้หนาแน่นจนเป็นผังสำเร็จ และต้องไปชดใช้กรรมอย่างทุกข์ทรมาน มีวิบากที่เป็นทุกข์ วนเวียนอยู่ในวัฏจักรของกิเลส กรรม วิบาก ยากที่จะหลุดพ้นจากภพทั้ง ๓ ได้ พญามารนี่แหละที่เป็นผู้ทำให้สรรพสัตว์หลงวนอยู่ในวัฏสงสาร


ทรงมีชัยชนะต่อพญามาร


ในวันที่พระมหาบุรุษจะตรัสรู้นั้น พระองค์ประทับนั่งอยู่ที่โคนต้น อัสสัตถพฤกษ์ หรือต้นโพธิ์ตรัสรู้ ทรงหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก มีพระทัยตั้งมั่น ประทับนั่งคู้บัลลังก์ โดยตั้งสัตยาธิษฐานว่า “แม้เนื้อและเลือดในสรีระเราจะแห้งเหือดไปหมดสิ้น จะเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตามที หากเรายังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ก็จักไม่ทำลายบัลลังก์นี้” คือ จะไม่ลุกจากที่เด็ดขาด

พญามารล่วงรู้ถึงความคิดนั้นก็ทนไม่ได้ จึงคิดทำลายความตั้งใจของ พระมหาบุรุษ มิฉะนั้นแล้ว พระองค์จักพ้นไปจากอำนาจของมาร พญามารจึงรวบรวมเสนามาร และไพร่พลมารทั้งหมด ยกทัพมาปราบพระโพธิสัตว์ โดยมีพลพรรคของเสนามารพวกที่อยู่ทัพหน้าเป็นทางยาวถึง ๑๒ โยชน์ กองทัพด้านขวาซ้าย ด้านละ ๑๒ โยชน์ ส่วนทัพหลังตั้งอยู่จรดขอบจักรวาล สูงขึ้นเบื้องบน ๙ โยชน์

เมื่อพวกมารโห่ร้อง เสียงโห่ร้องนั้น เสมือนเสียงแผ่นดินทรุดตั้งแต่พันโยชน์ เทพบุตรมารขี่ช้างคิริเมขล์สูง ๑๕๐ โยชน์ เนรมิตแขนตั้งพัน ถืออาวุธนานาชนิด พวกหมู่มารที่เหลือล้วนมีรูปร่างน่าสะพรึงกลัวแตกต่างกันไป มีฤทธิ์มีเดชแตกต่างกันอีกด้วย ต่างมุ่งมาจู่โจมพระโพธิสัตว์จากทิศทั้งสี่

  
  ขณะเดียวกันนั้นเอง เทวดาในหมื่นจักรวาล กำลังพากันกล่าวสดุดี พระโพธิสัตว์ โดยมีท้าวสักกเทวราชยืนเป่าสังข์วิชยุตรซึ่งมีขนาดประมาณ ๑๒๐ ศอก พญากาฬนาคราชยืนพรรณนาพระคุณของพระโพธิสัตว์ ท้าวมหาพรหมยืนกั้นเศวตฉัตร เมื่อเหล่ามารจู่โจมเข้ามาใกล้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทวยเทพทั้งหมดก็เกิดอาการขนพองสยองเกล้า ตกอกตกใจกันไปหมด รีบเผ่นหนีไปสุดขอบจักรวาล พญากาฬนาคราชดำดินไปมัญเชริกนาคพิภพ ซึ่งมีขนาด ๕๐๐ โยชน์ นอนเอามือทั้งสองปิดหน้า ท้าวสักกเทวราชลากสังข์วิชยุตร พร้อมด้วยเหล่าทวยเทพหนีไปอยู่ขอบจักรวาลโน้น ท้าวมหาพรหมจับยอดเศวตฉัตรเสด็จหนีไปพรหมโลกทันที

พระโพธิสัตว์ถูกทอดทิ้งอยู่เพียงลำพังพระองค์เดียว ไม่มีใครเป็นที่พึ่งได้ จึงทรงรำพึงว่า “มารเหล่านี้ทำความพากเพียรใหญ่โต เพราะมุ่งหมายทำลายเราผู้เดียว ในที่นี้ เราไม่มีพวกพ้องบริวาร มีแต่ทศบารมีเท่านั้น ที่เป็นเสมือนบริวารชนที่เราชุบเลี้ยงมาตลอดกาลนาน เพราะฉะนั้น เราควรทำบารมี ๓๐ ทัศ ให้เป็นยอดขุนพล เอาศาสตรา คือ บารมีนั่นแหละประหาร กำจัดหมู่พลมารนี้ให้ได้” ทรงนึกถึงบารมีทั้ง ๑๐ ทัศ รวมไปถึงอุปบารมีและปรมัตถบารมีเป็น ๓๐ ทัศ



     เมื่อทรงรำลึกถึงพระบารมีทั้ง ๓๐ ทัศแล้ว พระองค์มิได้หวาดกลัวอานุภาพของพญามารและเสนามาร แม้พวกเสนามารจะเปล่งเสียงดังสนั่นหวั่นไหว สะเทือนไปทั่วทั้งภพ ๓ หวังจะทำให้มหาบุรุษหวั่นไหว ก็ไม่อาจเข้ามาใกล้พระมหาบุรุษได้ ด้วยอำนาจบารมีธรรมที่พระองค์สั่งสมมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ถึงมารจะแสดงอาการข่มขู่เช่นไร พระมหาบุรุษยังคงประทับนั่งอยู่ที่รัตนบัลลังก์ โดยมิได้หวั่นไหวแม้แต่น้อย


พญามารเห็นว่า บรรดาเสนามารมิอาจทำอันตรายพระมหาบุรุษได้ก็โกรธ คิดว่าเราจะต้องใช้อาวุธ ๙ ประการ ทำให้พระมหาบุรุษกลัวแล้วหนีไปให้ได้ พญามารพลันบันดาลให้เกิดพายุใหญ่พัดมาจากทั่วสารทิศ มีกำลังลมสามารถทำลายภูเขาใหญ่สูงถึง ๒ โยชน์ให้สลายไปในทันที แต่ลมนั้นกลับไม่อาจทำอันตรายแม้จีวรของพระมหาบุรุษให้ไหวได้ พญามารได้บันดาลให้เกิดมหาเมฆ ทำห่าฝนให้ตกลงมา น้ำฝนไหลนองไปทั่ว แต่ก็ไม่อาจทำให้แม้จีวรของพระมหาบุรุษเปียกได้ เพราะเปี่ยมล้นด้วยบารมี จึงมีชัยชนะ




 ขณะที่พญามารและพระโพธิสัตว์กำลังต่อสู้กันอยู่ อุกกาบาตได้ตกลงมา ทิศทั้งหลายต่างมืดมัวด้วยควัน แผ่นดินแม้ไม่มีใจก็เหมือนมีใจ ถึงความพลัดพรากเหมือนหญิงสาวพลัดพรากจากสามี เหมือนเถาวัลย์ต้องลมพัดแรง มหาสมุทรก็มีน้ำปั่นป่วน แม่น้ำทั้งหลายไหลทวนกระแส ลำต้นไม้ต่างๆ คดงอ พายุร้ายพัดไปรอบๆ มีเสียงอึกทึกครึกโครม ความมืดที่ปราศจากดวงอาทิตย์ก็เลวร้าย สัตว์ร้ายท่องไปในกลางหาวก็ไม่กล้าบินต่อ ส่วนหมู่ทวยเทพทั้งหลายเห็นมารประสงค์จะประหารพระมหาสัตว์ ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพทั้งปวง ต่างพากันเอ็นดูและส่งเสียงคอยเป็นกำลังใจอยู่ห่างๆ


พระบรมโพธิสัตว์รู้ว่า กำลังผจญกับศัตรูที่ไม่มีใครในภพสามจะปะทะได้ จึงนึกถึงแต่กำลังบารมี ๓๐ ทัศ ที่สั่งสมมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ให้มาเป็นธรรมาวุธอันวิเศษเป็นเกราะแก้วคุ้มกันภัย และเอาชนะศัตรูที่มาข่มขู่อยู่เบื้องหน้า ขณะนั้นเองพญามารได้บันดาลให้ฝนถ่านสีแดงร้อนแรงราวกับไฟนรก แต่เมื่อตกลงมาก็กลับกลายเป็นทิพยมาลาบูชาพระมหาบุรุษ พญามารจึงบันดาลให้ฝนชนิดต่างๆ ตกลงจากอากาศ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประหาร ถ่านไฟ ไฟนรก ฝนทราย ฝนโคลนและฝนน้ำกรด แต่ก็ไม่สามารถทำอันตรายใดๆ ได้

เมื่อพญามารไม่อาจทำอันตรายมหาบุรุษด้วยฤทธิ์ของตนได้ ก็โกรธมาก เร่งไพร่พลให้ไปจับพระมหาบุรุษมาประหารให้ได้ ตัวพญามารเองก็ไสช้างคิรีเมขล์เข้าไปที่ต้นโพธิ์ ประกาศว่า “ดูก่อนสิทธัตถะ ท่านจงลุกขึ้นจากบัลลังก์นี้ รัตนบัลลังก์นี้ไม่ควรแก่ท่าน ควรแก่เราต่างหาก” พวกเสนามารพากันโห่ร้องรับกันลั่นไปทั่วภพสาม

พระมหาบุรุษตรัสว่า “รัตนบัลลังก์นี้ บังเกิดขึ้นด้วยบุญของเรา หาได้เกิดเพราะบุญของท่านไม่ เพราะฉะนั้น เราจะไม่ยอมลุกเด็ดขาด”

พญามารขู่ว่า “ท่านไม่รู้จักกำลังของเรา เรามีพหลโยธามากมาย มีอาวุธครบครัน ส่วนตัวท่านนั้นมีเพียงลำพังคนเดียว ยังกล้ามาลองดีกับเราอีก”

พระมหาบุรุษตอบโต้โดยไม่สะทกสะท้านว่า “ดูก่อนมาร แม้ตัวท่านก็ไม่รู้กำลังของเรา เราได้บำรุงเลี้ยงไพร่พลไว้มากมาย มีอาวุธพร้อมมือ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่กลัวท่าน บารมี ๓๐ ทัศ นี้เป็นโยธาของเรา”

พระโพธิสัตว์ตรัสต่อว่า “พยานที่รู้เห็นการกระทำของเราไม่มี แต่พื้นดินอันหาวิญญาณมิได้นี้เป็นพยานของเรา เราได้สร้างมหาทานบารมีไว้ในสมัยเป็นพระเวสสันดรถึง ๗ ครั้ง”

วันวิสาขบูชา ตอนวันประสูติ

       วันวิสาขบูชา ตอนวันประสูติ

" ดวงจันทร์ในคืนวันเพ็ญปราศจากมลทิน โคจรไปในอากาศ ย่อมสว่างกว่าหมู่ดาวบนท้องฟ้า ด้วยกำลังแห่งรัศมี ฉันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อทรงอุบัติขึ้น ย่อมรุ่งโรจน์กว่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย ฉันนั้น "


การอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับเป็นที่สุดแห่งบุญลาภของสรรพสัตว์ทั้งหลาย พระองค์ทรงขจัดความทุกข์ของมนุษย์ให้พบสุขอันเป็นนิรันดร์ เหมือนดวงจันทร์ที่ขจัดความมืดมิดในรัตติกาล ทำความสว่างไสวให้เกิดขึ้นบนท้องนภา การได้ตรัสรู้ธรรมอันประเสริฐ ทำให้พระองค์เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เหนือมนุษย์ทั้งหลาย เป็นครูทั้งของมนุษย์และเทวดา
 
        นับย้อนหลังจากมหาภัทรกัปนี้ไปใน ๔ อสงไขยแสนมหากัป พระบรมโพธิสัตว์ได้บังเกิดเป็นบุตรของเศรษฐีในเมืองอมราวดี เมื่อบิดามารดาตายหมดแล้ว จึงคิดว่า “ทรัพย์สมบัติมากมายที่บรรพบุรุษของเราได้สั่งสมต่อๆ กันมาขนาดนี้ ไม่เห็นมีใครนำติดตัวไปได้สักคนเดียว ดังนั้น จะมีประโยชน์อะไรที่เราจะมาหลงใหลมัวเมากับทรัพย์สมบัติเหล่านี้” ว่าแล้วก็บริจาคทรัพย์สินเงินทองที่มีอยู่หลายร้อยโกฏิให้เป็นทานจนหมด ออกบวชบำเพ็ญพรตมีนามว่า “สุเมธดาบส”
ต่อมาท่านได้มีโอกาสพบพระทีปังกรพุทธเจ้า ได้ทอดตนเหนือโคลนตามเป็นสะพานให้พระพุทธองค์ได้ก้าวข้ามไป แล้วตั้งความปรารถนาต่อเบื้องพระพักตร์ของพระบรมศาสดาว่า “ในอนาคตกาล ขอให้ข้าพระองค์ได้สำเร็จเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าเหมือนดังเช่นพระพุทธองค์ด้วยเถิด”

    พระทีปังกรพุทธเจ้าทรงเห็นด้วยพุทธญาณว่า “บุคคลนี้คือพระโพธิสัตว์ที่สั่งสมบารมีมายาวนาน” จึงมีพุทธพยากรณ์ว่า ท่านจะได้เป็นพระพุทธเจ้าสมหวังดังใจปรารถนา”

เมื่อได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว ท่านก็ทุ่มเทสร้างทสบารมีและได้รับพุทธพยากรณ์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรื่อยมาถึง ๒๕ พระองค์ ทรงบริจาคโลหิตเป็นทานมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้งสี่ ทรงสละเนื้อเป็นทานมากกว่ามหาปฐพี ทรงสละพระเศียรเป็นทานก็สูงกว่าเขาพระสุเมร และทรงสละดวงพระเนตรเป็นทานมากกว่าดวงดาวบนท้องฟ้า

หัวใจของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายยิ่งใหญ่เกินผู้ใดในอนันตจักรวาล แม้รู้ว่าสกลจักรวาลทั้งสิ้น เต็มด้วยถ่านเพลิงอันร้อนแรง เต็มไปด้วยหอกและหลาวที่แหลมคม หรือเต็มด้วยน้ำปริ่มฝั่งแล้ว หากสามารถก้าวข้ามได้ จะได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ตัดสินใจที่จะทอดเท้าก้าวข้ามไป เพื่อให้ได้มาซึ่งสัพพัญญุตญาณอันประเสริฐ

เมื่อพระบรมโพธิสัตว์สั่งสมบารมีทั้ง ๓๐ ทัศ เต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว ก็ได้กลับขึ้นไปเสวยทิพยสมบัติในสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นท้าวสันดุสิตเทวราชจอมเทพแห่งดุสิตเทวภูมิ ครั้นได้เวลาอันเป็นอุดมมงคล เทวดาในหมื่นจักรวาลได้พร้อมใจกันเข้าไปทูลอาราธนาให้เสด็จลงไปตรัสรู้ธรรมในมนุษยโลกว่า



ข้าแต่พระมหาวีระเจ้า บัดนี้เป็นกาลสมควรแล้ว ขอได้โปรดอุบัติในพระครรภ์พระมารดา เพื่อตรัสรู้อมตธรรม นำพาโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลกให้ข้ามสังสารวัฏอันยาวไกลไปสู่นิพพานด้วยเถิด


พระบรมโพธิสัตว์ครั้นได้ทรงสดับการอาราธนาให้ลงไปจุติเพื่อตรัสรู้ธรรมแล้ว ก็ทรงพิจารณาปัญจมหาวิโลกนะว่า “เราจะไปบังเกิดที่ไหนดี

ทรงพิจารณาอายุของสัตว์โลก ว่า ธรรมดาของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ จะอุบัติขึ้นในยุคสมัยที่มนุษย์มีอายุระหว่าง ๑๐๐ ปี ถึง ๑ แสนปีเท่านั้น เพราะถ้าหามนุษย์มีอายุมากกว่า ๑ แสนปี ก็จะไม่เข้าใจเรื่องชาติ ชรา มรณะ เนื่องจากมีอายุยืนยาว จึงมากไปด้วยความประมาท เมื่อพระศาสดาตรัสสอนเรื่องไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็จะไม่เชื่อฟัง แต่ครั้นมนุษย์มีอายุต่ำกว่า ๑๐๐ ปี ก็จะมีจิตใจหนาไปด้วยกิเลส คนอายุน้อย ไม่มีเวลาพอที่จะศึกษาธรรมะ มัวแต่ทำมาหากินและหลงใหลในโลกียวิสัย


ทรงพิจารณาทวีปทั้ง ๔ คือ บุพพวิเทหทวีป อุตตรกุรุทวีป อมรโคยานทวีป และชมพูทวีป ทรงเห็นว่าพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงอุบัติขึ้นในชมพูทวีปเท่านั้น




        ทรงพิจารณาเห็นมัชฌิมประเทศ เป็นสถานที่บังเกิดขึ้นของพระสัพพัญญูพุทธเจ้า ทรงเลือกที่จะถือกำเนิดในขัตติยตระกูล และพิจารณาเห็นว่าสตรีผู้สมควรเป็นพุทธมารดาคือพระนางสิริมหามายา เพราะพระนางได้สั่งสมบารมีมาแสนกัปบริบูรณ์ เป็นสตรีผู้รักษาศีลห้าได้บริสุทธิ์เป็นปกติ




ครั้นทรงพิจารณาปัญจมหาวิโลกนะแล้ว จึงรับอาราธนาของท้าวมหาพรหมและเทพยดาทั้งหลาย เสด็จจากทิพยนันทวันอุทยาน ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายาราชเทวี อัครมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์


   
    เมื่อวันอาสาฬหปุรณมีมาถึง พระนางสิริมหามายาได้ทรงบริจาคทานตามปกติ เสวยโภชนาหารอันประณีต ทรงสมาทานอุโบสถศีลดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาเป็นประจำ แล้วเสด็จเข้าสู่ห้องบรรทม ทรงนิทรารมย์ในปฐมยามแห่งราตรี ครั้นเวลารุ่งสว่าง พระนางได้ทรงสุบินนิมิตว่า


“ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ได้พร้อมใจกันมาอัญเชิญพระนางไปพร้อมทั้งพระแท่นที่ประทับ นำไปยังป่าหิมพานต์ แล้วประดิษฐานลงบนแผ่นหินใหญ่ ภายใต้ต้นรัง ขณะนั้น มีนางเทพธิดามาเชิญพระนางให้เสด็จไปสรงน้ำในสระอโนดาต ลูบไล้ด้วยของหอม ประดับด้วยทิพยบุปผา จากนั้นก็อัญเชิญพระนางให้เสด็จเข้าบรรทมในวิมานทองซึ่งประดิษฐานอยู่บนยอดภูเขาเงิน ในขณะนั้น ได้มีพญาช้างเผือกเชือกหนึ่ง ลงมาจากภูเขาทองมาสู่ห้องบรรทมของพระนาง ชูงวงถือดอกบัวขาวมีกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่ววิมาน เวียนประทักษิณพระนางครบ ๓ รอบแล้ว ปรากฎเสมือนหนึ่งว่า เข้าสู่พระอุทรทางด้านเบื้องขวาของพระนาง”




ในขณะที่พระนางสิริมหามายาทรงสุบินนิมิตนั้น พระบรมโพธิสัตว์เสด็จจุติลงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนาง ขณะนั้น ก็พลันบังเกิดกัมปนาท แผ่นดินไหวมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ บุพนิมิต ๓๒ ประการได้ปรากฏขึ้นแล้วในหมื่นจักรวาล ครั้นเวลารุ่งเช้า พระนางเจ้าสิริมหามายาได้กราบทูลเล่าสุบินนิมิตให้พระสวามีทรงทราบ พระเจ้าสุทโธทนะจึงรับสั่งให้เชิญพราหมณ์ปาโมกข์โหราจารย์ทั้งหลายเข้าเฝ้า เพื่อให้ทำนายสุบินนิมิตของอัครมเหสี




        โหราจารย์ทั้งหลายฟังแล้ว ก็กราบทูลพยากรณ์ว่า “พระสุบินนิมิตของพระราชเทวี เป็นมหามงคลอันประเสริฐ พระองค์จะได้พระโอรสที่เลิศกว่าบุรุษทั้งปวง มีบุญญาธิการยิ่งใหญ่ มีอานุภาพมาก จะได้เป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ หาผู้เสมอเหมือนมิได้ ถ้าสถิตอยู่ในเพศฆราวาสวิสัย จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ แต่ถ้าออกบรรพชาจะได้ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระศาสดาเอกในโลก”




นับตั้งแต่พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ บรรดากษัตริย์เมืองต่างๆ ได้ส่งราชบรรณการมาถวายพระเจ้ากรุงกบิลพัสดุ์เป็นจำนวนมาก และขณะที่พระองค์ประทับอยู่ในพระครรภ์ก็มิได้รู้สึกว่าคับแคบ พระมารดามีพระวรกายเบาสบายเหมือนมิได้ทรงพระครรภ์ สามารถทอดพระเนตรราชโอรสที่กำลังประทับนั่งขัดสมาธิคู้บัลลังก์อยู่ในพระครรภ์ได้อย่างชัดเจน




  เมื่อพระนางทรงพระครรภ์ครบถ้วนทศมาส มีพระทัยปรารถนาจะเสด็จกรุงเทวทหะอันเป็นพระราชสกุลเดิม ในเช้าวันวิสาขปุรณมี พระนางได้เสด็จโดยเสลี่ยงทองแวดล้อมด้วยบริวารออกจากพระนคร เสด็จโดยลำดับจนเข้าสู่เขตป่าลุมพินี เป็นสถานที่รื่นรมย์สวยงาม บริบูรณ์ด้วยดอกไม้และไม้ผลนานาชนิด พระนางปรารถนาจะเสด็จเข้าไปประทับพักผ่อนเพื่อทัศนาชมราชอุทยาน บรรดาหมู่อำมาตย์จึงจัดสถานที่ให้เสด็จเข้าไปประทับใต้ร่มสาละ


ขณะที่พระนางทรงสำราญอิริยาบถอยู่นั้น เมื่อทรงยกพระหัตถ์จับกิ่งสาละ ก็บังเกิดลมกัมมัชวาต เจ้าหน้าที่พนักงานจึงรีบช่วยกันจัดสถานที่อันเหมาะสม มีการผูกม่านแวดล้อมภายใต้ต้นสาละ ครั้นเวลาใกล้เที่ยง พระนางสิริมหามายาได้ประสูติพระโอรสผู้อุดมเลิศด้วยมหาปุริสลักษณะครบถ้วน ๓๒ ประการ




     เมื่อพระมหาบุรุษประสูติจากพระครรภ์ ยังมิทันถึงพื้นปฐพี ท้าวมหาพรหมทั้ง ๔ จากชั้นสุทธาวาส รองรับพระวรกาย ด้วยข่ายทอง ท่อน้ำอุ่นและน้ำเย็นหลั่งลงมาจากอากาศโสรจสรงองค์พระมารดาและพระบรมโพธิสัตว์ จากนั้นท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ก็รับองค์พระมหาบุรุษจากพระหัตถ์ของมหาพรหม แล้วเหล่านางนมก็รับต่อไปอีก พระบรมโพธิสัตว์เสด็จลุกขึ้นประทับยืนบนพื้นปฐพีด้วยพระบาททั้งสอง แล้วทอดพระเนตรไปทั่งทั้งสิบทิศ มิได้เห็นบุคคลใดจะมีบุญบารมีเสมอเหมือนพระองค์เลย จึงหันพระพักตร์ไปทางทิศอุดร เสด็จดำเนินด้วยพระบาทไป ๗ ก้าว มีดอกอุบลผุดขึ้นมารับทุกย่างก้าว แล้วทรงบันลือสีหนาทเปล่งอาสภิวาจา ด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะดุจเสียงท้าวมหาพรหมว่า


“อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส อยมนฺติมา ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโวติ แปลว่า เราเป็นผู้เลิศในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐในโลก เราเป็นเจริญที่สุดในโลก ความเกิดของเรานี้ เป็นชาติสุดท้าย ภพใหม่ของเราไม่มีอีก”


พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

วิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก

     วิสาขบูชา  วันสำคัญสากลโลก

“เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวงรู้ธรรมทั้งปวง อันตัณหาและทิฏฐิ ไม่ฉาบทาแล้ว ในธรรมทั้งปวงละธรรมเป็นไปในภูมิสามได้หมด พ้นแล้วเพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา เราตรัสรู้ยิ่งเองแล้ว จะพึงอ้างใครเล่า อาจารย์ของเราไม่มี คนเช่นเราก็ไม่มี บุคคลเสมอเหมือนเราก็ไม่มี ในโลกกับทั้งเทวโลก เพราะเราเป็นพระอรหันต์ในโลก เราเป็นศาสดา หาศาสดาอื่นยิ่งกว่ามิได้ เราผู้เดียวเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ เราเป็นผู้เย็นใจ ดับกิเลสได้แล้ว เราจะไปเมืองในแคว้นกาสี เพื่อประกาศธรรมจักรให้เป็นไป เราจะตีกลองประกาศอมตธรรมในโลกอันมืด เพื่อให้สัตว์ได้ธรรมจักษุ”


การอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ เปรียบเสมือนดวงสุริยาที่ทอแสงให้ความสว่างในชีวิตแก่สรรพสัตว์ทั้งปวงโดยไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง พระพุทธองค์เสด็จมาเพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติและสรรพสัตว์ทั้งหลาย
เนื่องในวันวิสาขบูชา เป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในฐานะชาวพุทธ ผู้เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ก็ต้องมาระลึกนึกถึงพุทธคุณอันไม่มีประมาณ ที่พระองค์ทรงเป็นต้นบุญต้นแบบในการสร้างบารมีให้กับพวกเรา เพราะถ้าไม่มีวันนี้ ก็จะไม่มีการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โลกก็จะไม่มีพระพุทธศาสนา เราก็จะไม่ได้เป็นชาวพุทธ และก็จะไม่รู้จักหนทางแห่งการดับทุกข์ ไปสู่เอกันตบรมสุขในอายตนนิพพาน หรือแม้วิธีการที่จะไปสู่สุคติ โลกสวรรค์ เราก็จะไม่รู้จักกันเลย
     สร้างบารมี


การจะพรรณนาพุทธคุณด้วยเวลาอันสั้นนั้น เปรียบไปแล้วก็เหมือนปริมาณน้ำที่ลอดรูเข็ม เมื่อเทียบกับน้ำในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ เพราะว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระคุณอันยิ่งใหญ่ ต่อสัตว์โลกตั้งแต่สมัยที่สร้างบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ ท่านคิดที่จะตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง และก็สั่งสอนสัตว์โลกทั้งหลาย ทั้งมนุษย์และเทวา ให้ได้บรรลุธรรมตาม เมื่อคิดแล้ว ก็ลงมือทำไปด้วย ตั้งใจสร้างบารมี ๓๐ ทัศน์เรื่อยมา ทั้งทรัพย์ อวัยวะและก็ชีวิต นับครั้งไม่ถ้วน ยาวนานถึง ๒๐ อสงไขยแสนมหากัป จนบารมีของท่านเต็มเปี่ยม ได้มาเสวยทิพยสมบัติอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต เป็นท้าวสันดุสิต ปกครองสวรรค์ชั้นดุสิต เพื่อรอเวลาอันควร
เมื่อถึงกาลสมัยอันควรที่จะมาตรัสรู้ เทวดา พรหม อรูปพรหม ทั่วหมื่นโลกธาตุ ตลอดภพสามก็มาประชุมพร้อมกัน และก็อัญเชิญพระองค์ลงมาบังเกิดในโลกมนุษย์ ซึ่งท่านก็จะตรวจตราดู ปัญจมหาวิโลกนะ คือ ดูทวีป ประเทศ อายุขัยของมนุษย์ยุคนั้น ดูตระกูลที่มนุษย์ยกย่องว่าเป็นเลิศในโลก และก็ดูพุทธมารดา ตรวจตราดูแล้วเห็นว่า เป็นการที่เหมาะสมจะได้มาเกิดในชมพูทวีป ในมัชฌิมประเทศ ในยุคที่มนุษย์มีประมาณ ๑๐๐ ปี เกิดในขัตติยตระกูล และทรงกำหนดเอาพระนางสิริมหามายาเป็นพุทธมารดา จากนั้นจึงรับอาราธนา และก็อธิษฐานจิตลงมาเกิดในโลกมนุษย์
    วันประสูติิ

ย้อนไปก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ณ สวนลุมพินี ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ และกรุงเทวทหะ พระจันทร์เสวยฤกษ์วิสาขะ ตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ วันนี้ นับเป็นวันที่รูปกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อุบัติขึ้นบนผืนโลก
พระนางสิริมหามายาผู้เป็นพุทธมารดา เมื่อทรงตั้งครรภ์ ด้วยความที่พระนางทรงรักษาศีลและฝึกสมาธิมามาก ทำให้ทรงเห็นพระโพธิสัตว์ที่อยู่ในครรภ์กำลังนั่งขัดสมาธิอย่างชัดเจน เหมือนอย่างกับพระโพธิสัตว์นั่งสมาธิอยู่นอกพระครรภ์ ครั้นถึงคราวพระโพธิสัตว์จะประสูติปรากฏว่า พระพุทธมารดาทรงประทับยืน แทนที่จะนอนเหมือนอย่างกับคนอื่นๆ แล้วพระโพธิสัตว์ประสูติโดยเอาพระบาทออกมาก่อน ประดุจพระธรรมกถึกหย่อนขาขวาลงจากธรรมาสน์ ทันทีที่พระบาทเหยียบถึงพื้น ก็สามารถยืนและเดินได้เลยทันที นับเป็นอัศจรรย์ที่บังเกิดขึ้นได้ยาก
เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติและยืนได้ถนัดแล้ว ทรงเปล่งอาสภิวาจาที่ทรงยืนยันถึงวัตถุประสงค์ในการเกิดอย่างชัดเจนว่า


“เราเป็นผู้เลิศ ผู้เจริญ ผู้ประเสริฐที่สุดในโลก


ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพใหม่ไม่มีแก่เราอีกแล้ว”
         ขณะที่พระโพธิสัตว์กำลังประสูตินั้น ได้บังเกิดความสว่างไสวขึ้นในโลกและไกลไปถึงหมื่นโลกธาตุ บุพนิมิต ๓๒ ประการปรากฏขึ้น ในหมื่นจักรวาลได้มีแสงสว่างสุดจะประมาณแผ่ซ่านไป พวกคนตาบอดต่างก็มองเห็นได้ พวกคนหูหนวกก็ได้ยินเสียง พวกคนใบ้ก็พูดได้ พวกคนค่อมก็มีตัวตรงขึ้น คนง่อยเปลี้ยเสียขาก็เดินด้วยเท้าได้ สัตว์ทั้งปวงที่ถูกจองจำก็พ้นจากเครื่องพันธนาการ ไฟในนรกทุกแห่งก็ดับ ในเปรตวิสัยความหิวกระหายก็สงบระงับ เหล่าสัตว์เดียรัจฉานก็ไม่มีความกลัวภัย โรคและไฟกิเลสมีราคะเป็นต้นของสัตว์ทั้งปวงก็สงบระงับ นี่ก็นับเป็นความมหัศจรรย์ที่บังเกิดขึ้นได้ยากในโลกแท้ !!!
ครั้นพระองค์ทรงเจริญวัยขึ้น ก็ศึกษาความรู้จากครูที่มีความรู้อันสูงสุดของแผ่นดิน ท่านใช้เวลาเพียงแค่ ๗ วันเท่านั้น ก็เรียนจนหมดภูมิความรู้ของครูที่อุตสาหศึกษามาตลอดชีวิต แม้พระองค์จะทรงพรั่งพร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติและคุณสมบัติ แต่ก็ไม่ประมาทในชีวิต ครั้นได้ทอดพระเนตรเทวทูต คือ เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และก็เห็นสมณะ ก็คิดได้ว่า ต้องเลือกชีวิตสมณะ เพราะเป็นชีวิตที่ประเสริฐที่สุด ที่จะมุ่งไปสู่หนทางพ้นทุกข์ ท่านจึงเสด็จออกผนวชเมื่อได้ ๒๙ พรรษา และได้ทรงม้ากันฐกะ ออกผนวชที่ริมฝั่งแม่น้ำ เนรัญชรา
    วันตรัสรู้

หลังจากได้บำเพ็ญเพียรมายาวนานถึง ๖ ปี ภายใต้ต้นอัสสัตถพฤกษ์ ในวันนั้น พระบรมโพธิสัตว์ได้ทรงนั่งคู้อปราชิตบัลลังก์ซึ่งแม้สายฟ้าจะผ่าลงตั้ง ๑๐๐ ครั้งก็ไม่แตกทำลาย โดยทรงอธิษฐาน
“แม้เลือดและเนื้อในกาย จักแห้งเหือดเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตาม


ตราบใดที่เรายังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ


ได้รู้ ได้เห็นธรรมอันยิ่งแล้ว


จักไม่ยอมลุกจากบัลลังก์นี้เป็นอันขาด


จักนั่งอบรมกาย วาจา ใจ ให้ละเอียดถึงที่สุดให้ได้ ”


       พอพญามารรู้เข้า ก็สะดุ้งพรึบกันทั้งภพทีเดียว ได้เข้ามาสิงบังคับท้าวปรนิมมิตสวัตดี ให้เป็นเทวบุตรมาร แล้วก็พากันยกพลพักมารมาข่มขู่ มาอ้างสิทธิ์ว่า ที่ตรงนี้น่ะ เป็นที่ของพญามาร โดยมีเสนามารพร้อมด้วยพรรคพวกของตัวมาร พระโพธิสัตว์ท่านก็ไม่หวั่นไหว ท่านนั่งทำใจหยุดใจนิ่งอย่างเดียว ในที่สุดพระองค์ก็สามารถเอาชนะได้ ด้วยอานุภาพแห่งบารมีธรรม ที่สั่งสมมาอย่างดีแล้ว
พระมหาบุรุษทรงพิจารณาปัจจยาการอันประกอบด้วยองค์ ๑๒ โดยอนุโลมและปฏิโลม หมื่นโลกธาตุหวั่นไหว ๑๒ ครั้ง จนจรดน้ำรองแผ่นดินเป็นที่สุด พระมหาบุรุษได้ทรงบรรลุสัพพัญญุตญาณ ในเวลาอรุณขึ้น
เมื่อพระมหาบุรุษทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว โลกันตนรกกว้าง ๕๐๐ โยชน์ในระหว่างจักรวาลทั้งหลาย ไม่เคยสว่างด้วยแสงพระอาทิตย์ ๗ ดวง ก็ได้มีแสงสว่างไสวเป็นอันเดียวกัน มหาสมุทรลึก ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ได้กลายเป็นน้ำหวาน แม่น้ำทั้งหลายหยุดไหล คนบอดแต่กำเนิดก็มองเห็นรูป คนหนวกแต่กำเนิดก็กลับได้ยินเสียง คนง่อยเปลี้ยแต่กำเนิดก็เดินได้ กรรมกรณ์ทั้งหลายมีเครื่องจองจำเป็นต้น ได้ขาดหลุดไป !! พระมหาบุรุษได้รับการบูชาจากเหล่าทวยเทพด้วยสมบัติอันประกอบด้วยสิริหาปริมาณมิได้ ทรงเปล่งอุทานว่า
“เราเมื่อแสวงหานายช่างคือตัณหา ผู้กระทำเรือน


เมื่อไม่ประสบ ได้ท่องเที่ยวไปยังสงสารมิใช่น้อยการเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์


ดูก่อนนายช่างผู้กระทำเรือน เราเห็นท่านแล้ว ท่านจักทำเรือนไม่ได้อีกต่อไป


ซี่โครงทั้งปวงของท่าน เราหักแล้ว ยอดเรือนเรากำจัดแล้ว


จิตของเราถึงวิสังขารคือนิพพานแล้ว เราได้ถึงความสิ้นตัณหาแล้ว”

 
 
          เมื่อตรัสรู้แล้ว ก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเปี่ยมล้น อบรมพร่ำสอนชาวโลกให้ได้รู้และเห็นธรรมตามไปด้วย ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ๔๕ พรรษา พระพุทธองค์ต้องทรงดำเนินด้วยพระบาทเปล่า เสด็จจาริกไปเผยแผ่พระศาสนาตามดินแดนต่างๆ อย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ทรงแสดงธรรมประดุจหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือจุดประทีปในมืดเพื่อให้คนมองเห็น ทำให้มีสรรพสัตว์ได้บรรลุธรรมาภิสมัยเป็นอริยบุคคลมากมายนับไม่ถ้วน จากนั้นจึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน
     วันปรินิพพาน

เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา และวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี ณ ป่าสาลวัน เมืองกุสินารา วันนี้...เป็นวันที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน รูปกายที่ประกอบด้วยเลือดเนื้อแตกดับลง คงเหลือแต่พระธรรมกาย เสด็จสู่พระนิพพาน ก่อนจะเสด็จดับขันธ์นั้น ยังทรงมีมหากรุณาประทานปัจฉิมโอวาทแก่พุทธบริษัทว่า
"สังขารร่างกายของเราไม่เที่ยง มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา


พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด"

       ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยย่อ ซึ่งเป็นต้นแบบอย่างดีให้พวกเราได้ทำตาม พระองค์เป็นบรมครูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกจากอดีตมาจนกระทั่งปัจจุบัน ดังนั้น ในวันเพ็ญเดือนหกของทุกปี จึงถูกเรียกว่า วันวิสาขปุณณมี เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งยังไม่เคยปรากฏเลยในโลก ว่าจะมีศาสดาองค์ใด ที่มีวันประสูติ วันบรรลุธรรมและวันดับขันธปรินิพพาน เวียนมาตรงกันทั้ง ๓ วาระ เหมือนดังพระบรมศาสดาเอกของเราทั้งหลาย ทำให้องค์การสหประชาชาติได้กำหนดเอาวันมหามงคลนี้เป็น “วันสำคัญสากลของสหประชาชาติ” หรือวันสำคัญสากลโลกนั่นเอง
  
      พุุทธบริษัทรวมใจ จุดวิสาขประทีป น้อมถวายเป็นพุทธบูชา

วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พวกเราเหล่าพุทธบริษัทควรจะได้ได้ชักชวนชาวโลกให้มาเจริญพุทธานุสติ ระลึกถึงหนทางการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย หันมาศึกษาหลักธรรมที่ทรงประทานไว้ เป็นดังประทีปธรรมนำทางชีวิตที่ถูกต้องไปสู่สวรรค์นิพพาน เราทั้งหลายจะได้มาร่วมกันนั่งสมาธิเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายซึ่งเป็นกายแห่งการตรัสรู้ธรรม ทุกท่านควรจะหาโอกาสได้ไปจุดประทีป เดินเวียนประทักษิณรอบพุทธเจดีย์ที่ตนเคารพนับถือเพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา ให้ภายนอกได้สว่างด้วยแสงเทียน ภายในสว่างด้วยแสงธรรมแหล่งที่มา พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

“พระอาทิตย์ ส่องแสงในเวลากลางวัน พระจันทร์ย่อมส่องแสงในเวลากลางคืน กษัตริย์เมื่อทรงเครื่องรบแล้วย่อมรุ่งเรือง พราหมณ์ผู้มีความเพ่งเพียร ย่อมรุ่งเรือง ส่วนพระพุทธเจ้า ย่อมรุ่งเรืองด้วยเดชตลอดทั้งกลางวัน และกลางคืนทั้งหมด”

วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2553

นรกใหญ่ - น้อย

             นรกใหญ่ - น้อย

คำว่า นรก แปลว่า เหวในภาษาบาลีมักเรียกว่า นิรยะ แปลว่า สถานที่ไม่มีความเจริญ คือไม่มีสุข มีแต่ทุกข์ทรมาน คำว่า “นิรยะ” หรือ “นรก” ใช้หมายถึงสถานที่ทรมานสัตว์ทำบาปดั่งกล่าวเช่นเดียวกัน นรกที่เป็นขุมใหญ่ มี ๘ ขุม คือ



       ๑. สัญชีวะ แปลว่าคืนชีวิตขึ้นเอง คือสัตว์นรกในขุมนี้ถูกตัดเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่แล้วก็กลับคืนชีวิตขึ้นมาเองอีก รับการทรมานอยู่ร่ำไป ในคัมภีร์มหายานของธิเบต แสดงว่านรกขุมนี้สำหรับบาปที่ทำฆาตกรรมตนเอง ทำฆาตกรรมผู้อื่น หมอที่ทอดทิ้งฆ่าคนไข้ของตน ผู้จัดการทรัพย์มรดกที่คดโกง และผู้ปกครองที่โหดร้ายเบียดเบียนประชาชน

        ๒. กาฬสุตตะ แปลว่าเส้นดำ คือสัตว์นรกในขุมนี้ถูกขีดเป็นเส้นดำที่ร่างกาย เหมือนอย่างตีเส้นที่ต้นซุงเพื่อจะเลื่อย แล้วถูกผ่าด้วยขวานเป็น ๘ เสี่ยง ๑๖ เสี่ยง แต่ตามคัมภีร์ธิเบตกล่าวว่าถูกเลื่อยด้วยเลื่อย และกล่าวการลงโทษอีกอย่างหนึ่ง คือลากลิ้นออกมาตอกและไถด้วยไถเหล็กแหลมเป็นจัก ๆ สำหรับบาปที่พูดส่อเสียดยุยงให้เขาแตกกัน และเข้าไปยุ่งเกี่ยวขัดขวางกิจการของผู้อื่น และแสดงโดยทั่วไปว่า นรกขุมนี้สำหรับบาปที่แสดงความไม่นับถือลบหลู่หมิ่นมารดา บิดา พระรัตนตรัย หรือพระศาสนา


       ๓. สังฆาฏะ แปลว่า กระทบกัน คือมีภูเขาเหล็กคราวละ ๒ ลูกจากทิศที่ตรงกันข้ามเลื่อนเขามากระทบกันเอง บดสัตว์นรกในระหว่างแหลกละเอียด จาก ๔ ทิศก็เป็นภูเขา ๔ ลูก เลื่อนเข้ามากระทบกันตลอดเวลา ในคัมภีร์มหายานของ ธิเบตกล่าวว่า ภูเขาศีรษะเป็นสัตว์หรือเป็นเหล็กใหญ่รูปอย่างหนังสือ เลื่อนเข้ามาบดขยี้สัตว์เช่นเดียวกัน และกล่าวว่านรกขุมนี้สำหรับพวกพระ คฤหัถส์ และคนที่ไม่เชื่อในศาสนา ซึ่งลบหลู่ดูหมิ่นหรือทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของพระคัมภีร์ และสำหรับพวกพระที่สะสมเงินเป็นก้อน ซึ่งพวกตนไม่ได้ประกอบการงานและแสดงการทรมานอีกอย่างหนึ่ง คือบดตำในครกเหล็ก ตีบนทั่งเหล็ก สำหรับทรมานผู้ทำโจรกรรม ผู้ที่มีสันดานร้ายกาจด้วยความโกรธริษยา โลภอยากได้ ผู้ที่ใช้เครื่องชั่งดวงวัดโกง และผู้ที่ทิ้งขยะมูลฝอยหรือสัตว์ตายลงในถนนหนทางสาธารณะ


       ๔.โรรุวะ แปลว่า ร้องครวญคราง คือมีเปลวไฟเข้าไปทางทวารทั้งเก้าเผาไหม้ในสรีระ จึงร้องครวญครางเพราะเปลวไฟ (ชาลโรรุวะ) บางพวกถูกหมอกควันต่าง ๆ (กรด) เข้าไปละลายสรีระจนละเอียดเหมือนแป้ง จึงร้องครวญครางเพราะหมอกควัน (ธูมโรรุวะ) ในคัมภีร์ธิเบตกล่าวว่า กรอกน้ำเหล็กแดงอันร้อนแรงทางปากผ่านลำคอลงไป สำหรับบาปที่กั้นปิดทางน้ำเพื่อประโยชน์ของตน แช่งด่าดินฟ้าอากาศ ทำลายพืชพันธุ์ธัญญาหารให้เสียหาย
 
        ๕. มหาโรรุวะ แปล่า ร้องครวญครางมาก คือเป็นที่ทุกข์ทรมานยิ่งกว่าข้อ ๔ ในคัมภีร์ธิเบตกล่าวว่าสำหรับพาหิรชนคนบาปหนา



         ๖. ตาปนะ แปลว่า ร้อน ได้แก่ถูกให้นั่งเสียบตรึงไว้ด้วยหลาวเหล็กบนแผ่นดินเหล็กแดง ลุกเป็นไฟร้อนแรง บ้างก็ถูกต้อนขึ้นไปบนภูเขาเหล็กแดงเป็นไฟลุกโพลง ลูกลมพัดตกลงมา ถูกเสียบด้วยหลาวเหล็กที่โผล่ขึ้นมาจากแผ่นดินเหล็กแดง ในคัมภีร์ธิเบตกล่าวว่าถูกขังอยู่ในห้องเหล็กแดงเป็นไฟร้อนแรง สำหรับบาปที่ปิ้งทอดหรือเสียบสัตว์ปิ้งเป็นอาหาร


         ๗. ปตาปนะ แปลว่า ร้อนสูงมาก คือเป็นที่ทุกข์ทรมานยิ่งกว่าข้อ ๖ ในคัมภีร์ ธิเบตกล่าวว่า ถูกทิ่มแทงด้วยหอกสามง่ามล้มกลิ้งลงไปบนพื้นเหล็กแดงอันร้อนแรง สำหรับบาปที่ละทิ้งพระศาสนา (เลิกนับถือ) หรือปฏิเสธความจริง

         ๘. อวีจิ แปลว่า ไม่มีระหว่าง คือไม่เว้นว่าง บางทีเรียก มหาอวีจิ แปลว่า อเวจีใหญ่ ภาษาไทยมักเรียกว่า อเวจี เปลวไฟนรก ในนรกขุมนี้ลุกโพลงเต็มทั่วไปหมด ไม่มีระหว่างหรือเว้นว่าง สัตว์นรกในขุมนี้ก็แน่นขนัดเหมือนยัดทะนาน ไม่มีระหว่างหรือเว้นว่าง แต่ก็ไม่เบียดเสียดกันอย่างวัตถุ ต่างถูกไฟไหม้อยู่ในที่เฉพาะตน ๆ และความทุกข์ทรมานของสัตว์นรกในขุมนี้ ก็บังเกิดขึ้นสืบเนื่องกันไป ไม่มีระหว่างหรือเว้นว่าง ฉะนั้นจึงเรียกว่า อวีจิ หรือ อเวจี ซึ่งมีคำแปลดั่งกล่าว ในคัมภีร์ทางธิเบตกล่าวว่า สำหรับบาปที่ถือว่าเป็นอุกฤษฏ์โทษตามลัทธิลามะ แต่ฝ่ายเถรวาทแสดงว่าสำหรับบาปที่เป็นอนันตริยกรรม


เครื่องทรมานในนรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุมดั่งกล่าว มีเหล็ก เช่น พื้นแผ่นดินเหล็กและเครื่องอาวุธเหล็กต่าง ๆ มีไฟ คือเหล็กนั่นแหละลุกเป็นไฟร้อนแรง มีภูเขาเหล็กที่กลิ้งมาบด และมีหมอกควันชนิดเป็นกรดหรือด่าง

ในขุมนรกที่ ๑ และที่ ๒ มีนาย นิรยบาล แปลว่า ผู้รักษานรก ไทยเราเรียกว่า ยมบาล เป็นผู้ทำการทรมานสัตว์นรก แต่นรกขุมที่ลึกลงไปกว่านั้น ในอรรถกถาสังกิจจชาดกไม่ได้กล่าวถึงนายนิรยบาล กล่าวถึงไฟ เหล็ก เช่น เครื่องอาวุธต่าง ๆ เป็นต้น บังเกิดขึ้นทรมานสัตว์นรกเอง

นรกน้อย-นรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุม มีนรกเล็กเป็นบริวารล้อมรอบ ๔ ด้าน ด้านละ ๔ ขุม รวม ๑๖ ขุม ในไตรภูมิพระร่วงเรียกว่า “ฝูงนรกบ่าว” รวมนรกบริวารของนรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุมได้ ๑๒๘ ขุม รวมนรกใหญ่อีก ๘ ขุม เป็น ๑๓๖ ขุม นรกบริวาร มีชื่อดังนี้
 
         ๑. เวตรณีนรก แปลว่า นรกแม่น้ำเวตรณี แปลว่า ข้ามยาก คือเป็นแม่น้ำต่างที่ร้อนเดือดพล่าน เรียกว่า เวตรณี บัวและสิ่งต่าง ๆ ในแม่น้ำนั้นเป็นอาวุธทั้งสิ้น นายนิรยบาลตกเบ็ดสัตว์นรกอีกด้วย สำหรับบาปที่ประกอบกรรมหยาบชาเบียดเบียนผู้ที่อ่อนแอกำลังกว่า



        ๒. สุนขนรก แปลว่า นรกสุนัข คือมีฝูงสุนัขขาว แดง ดำ เหลือง และฝูงแร้งกากลุ้มรุมกัดตีจิกทรมาน สำหรับบาปที่กล่าวร้ายด่าว่าสมณพราหมณ์และท่านผู้มีคุณ


       ๓. สัญโชตินรก แปลว่า นรกไฟโพลง คือสัตว์นรกในขุมนี้มีสรีระลุกเป็นไฟโพลงแผดเผา ทั้งถูกทรมานต่าง ๆ สำหรับบาปที่ประกอบกรรมหยาบช้าเบียดเบียนบุรุษสตรีที่เป็นคนดีมีศีลธรรมไม่มีความผิด


      ๔. อังคารกาสุนรก แปลว่า นรกหลุมถ่านเพลิง คือตกลงไปไหม้ทรมานในหลุมถ่านเพลิง สำหรับบาปที่ฉ้อโกง เบียดบัง ถือเอาทรัพย์ที่เขาบริจาคเพื่อการกุศล หรือชักชวนให้เขาบริจาค อ้างว่าเพื่อการกุศล ได้ทรัพย์มาแล้วถือเอาเสียเอง แลสำหรับบาปที่เป็นหนี้ทรัพย์ผู้อื่นแล้วโกงหนีนั้


      ๕. โลหกุมภีนรก แปลว่า นรกหม้อโลหะ ไทยเราเรียกว่า นรกหม้อทองแดง เป็นที่ตกลงไปไหม้ทรมาน สำหรับบาปที่ทุบตีเบียดเบียนสมณพราหมณ์ผู้มีศีล


       ๖. คีวลุญจนรก แปลว่า นรกที่ดึงคอให้หลุด คือถูกเอาเชื่อกพันคอดึงจุ่มลงไปในน้ำร้อนในหม้อทองแดงให้คอหลุดทรมาน สำหรับบาปที่ประกอบกรรมหยาบช้า เบียดเบียน ทำลายหมู่เนื้อนก (นรกขุมนี้ในไตรภูมิพระร่วงเรียก" “โลหกุมภี” เหมือนกัน)


       ๗. ถุสปลาสนรก แปลว่า นรกข้าวลีบและแกลบ คือสัตว์นรกขุมนี้ลงไปวักน้ำในแม่น้ำนรกดื่มด้วยความกระหาย น้ำที่ดื่มไปนั้นก็กลายเป็นข้าวลีบและแกลบไฟ ไหม้ร่างกายทั้งหมดเป็นการทรมาน สำหรับบาปที่เอาข้าวลีบแกลบหรือฟางปนข้าวเปลือกลวงขายว่าข้าวดี (เอาข้าวสารไม่ดีปนข้าวดีลวงขายว่าข้าวดี ก็น่าจะอยู่ในนรกขุมนี้)


       ๘. สัตติหตสยนรก แปลว่า นรกที่แทงด้วยหอกจนล้มลง หรือสัตว์นรกในขุมนี้ถูกแทงด้วยอาวุธต่าง ๆ จนตัวพรุนอย่างในไม้เก่า สำหรับบาปที่ประกอบกรรมมิชอบ เลี้ยงชีวิตด้วยอทินนาทานต่าง ๆ มีปล้นสะดม ขโมย ฉ้อโกง ทุจริต เบียดบัง เป็นต้น


       ๙. วิลกตนรก แปลว่า นรกแล่เนื้อ คือแล่เนื้อสัตว์นรกออกเป็นชิ้น ๆ สำหรับบาปที่ประกอบกรรมหยาบช้า ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

       ๑๐. ปุราณมิฬหนรก แปลว่า นรกมูตรคูถหรือนรกอาจมเก่า คือสัตว์นรกในขุมนี้กินอาจมเก่าที่เหม็นนักหนาและลุกเป็นควันหรือเป็นไฟร้อนแรง สำหรับบาปที่ประทุษร้ายเบียดเบียนมิตรสหาย หรืออาศัยกินข้าวเขาแล้วยังขู่เอาทรัพย์ของเขา หรือเจ้าหน้าที่ผู้ขูดรีด


       ๑๑. โลหิตปุพพนรก แปลว่า นรกน้ำเลือดน้ำหนอง คือสัตว์นรกในขุมนี้อยู่ในแม่น้ำแห่งเลือดและหนอง หิวกระหาย กินน้ำเลือดน้ำหนองซึ่งร้อนเป็นไฟเข้าไปลวกไหม้ทรมาน สำหรับบาปที่ทำร้ายมารดาบิดาและท่านที่มีคุณควรกราบไหว้บูชาทั้งหลาย


       ๑๒. อยพลิสนรก แปลว่า นรกเบ็ดเหล็ก (หรือเรียกว่าโลหพลิสนรก) คือสัตว์นรกในขุมนี้ถูกเบ็ดเหล็กร้อนแดงเกี่ยวลิ้นลากออกมา ให้ล้มไปทามานบนพื้นเหล็กแดงแรงร้อน สำหรับบาปที่กดราคาของซื้อ โก่งราคาของขายเกินควร และใช้วิธีชั่งดวงวัดคดโกงด้วยโลภเจตนา


       ๑๓. อุทธังปาทนรก แปลว่า นรกที่จับเท้ายกขึ้นเบื้องบน ทิ้งลงไปให้ลมฝังลงไปแค่สะเอว แล้วยังมีภูเขากลิ้งจากทิศทั้ง ๔ มาบดทามาน เป็นนรกสำหรับสตรีที่นอกใจสามี เป็นชู้ด้วยชายอื่น(นรกแยกเพศเฉพาะหญิง)
 
       ๑๔. อวังสิรนรก แปลว่า นรกที่จับศีรษะห้อยลงเบื้องต่ำ ทิ้งลงไปให้ไหม้ทรมานเช่นเดียวกัน เป็นนรกสำหรับบุรุษที่เป็นชู้ด้วยภรรยาของคนอื่น (นรกแยกเพศเฉพาะชาย)



       ๑๕. โลหสิมพลีนรก แปลว่า นรกต้นงิ้วเหล็ก คือ สัตว์นรกในขุมนี้ตองปีนต้นงิ้วเหล็กมีหนามเหล็กแหลมแดงเป็นเปลวไฟร้อนแรง สำหรับบาปผิดศีลข้อ ๔ ทั้งชายและหญิง (นรกสหเพศ หรือสหนรก)


        ๑๖. ปจนนรก แปลว่า นรกหมกไหม้ (หรือเรียกวามิจฉาทิฏฐินรก) คือสัตว์นรกในขุมนี้ต้องถูกหมกไหม้และถูกทิ่มแทงทรมาน สำหรับบาปที่เป็นมิจฉาทิฏฐิคือเห็นผิด ว่าผลทานผลศีลไม่มี ผลกรรมดีกรรมชั่วไม่มี คุณมารดาบิดาไม่มี คุณสมณพราหมณ์ไม่มี เป็นต้น


 นรก ๑๖ ขุมนี้มีในไตรภูมิพระร่วง ส่วนในเนมิราชชาดก มีเพียง ๑๕ ขุม เว้นนรกสหเพศ (ขุมที่ ๑๕) ขาดไป เพราะมีนรกแยกเพศอยู่แล้ว จึงยังมีที่สำหรับผู้ผิดศีลข้อ ๓ ไปได้อยู่ เป็นแต่ต้องแยกกันอยู่คนละแห่ง


นรกทั้ง ๑๖ ขุมนี้ ท่านว่ายัดเยียดเสียดเต็มไปด้วยสัตว์นรก จึงเรียกว่า อุสสทนรก แปลว่า นรกยัดเยียดเบียดเสียด เป็นนรกบริวาร ซึ่งอยู่ ๔ ด้านของสัญชีวนรก ซึ่งเป็นนรกใหญ่ขุมที่ ๑ มีนายนิรยบาลเป็นผู้ทำหน้าที่ทรมานประจำอยู่ทุกขุม เป็นจำพวกนรกร้อนเช่นเดียวกัน


ส่วนนรกบริวารของนรกใหญ่อีก ๗ ขุม ยังไม่พบแสดงไว้ นอกจากนี้ยังกล่าวว่ามีนรกอนุบริวารถัดออกไป อยู่รอบนอกของนรกบริวารทั้ง ๑๖ นั้นอีกมากมาย สัตว์นรกทั้งปวงที่ถูกทรมานอยู่ในนรกจะไม่ตาย รับการทรมานต่อไปจนกว่าจะสิ้นกรรม
นำตัวคนบาปไปสู่การพิจารณาของยมบาล (พญายม) แล้วถูกนำตัวไปสู่นรก พรรณนานรกเพี้ยนกันไป เช่น
 
ในเทวทูตสูตร เล่าไว้ว่า สัตว์(คน) ผู้ประกอบด้วยทุจริตทางกาย วาจาและใจ ติเตียน ด่าว่าคนดี ประเสริฐ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือกรรมของคนมิจฉาทิฏฐิ ครั้นกายแตกสลายตายลง นายนิรยบาลจับไปแสดงแก่ยมราชขอให้ลงโทษ ยมราชซักถามว่า เคยเห็นเทวทูต ๕ คือ เด็กแรกคลอด คนแก่ คนเจ็บ คนถูกราชทัณฑ์ คนตาย บ้างหรือไม่ เมื่อผู้นั้นตอบว่าเคยเห็น ก็ซักต่อไปว่า ได้เคยคิดบ้างหรือไม่ว่าเรามีความเกิดเป็นธรรมดา มีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บเป็นธรรมดา ผู้ทำกรรมชั่วก็จะต้องถูกลงราชทัณฑ์ต่าง ๆ ในปัจจุบัน และเรามีความตายเป็นธรรมดา เอาละ เราจะทำกรรมที่ดีงาม ทางกาย วาจา ใจ ต่อไป เมื่อผู้นั้นกล่าวว่าไม่ได้คิดมัวประมาทไปเสีย ยมราชจึงกล่าวว่า เจ้ามีความประมาท จึงไม่ทำกรรมงามทางกาย วาจา ใจ ก็จักทำเจ้าให้สาสมกับที่ประมาทไปแล้ว บาปกรรมนั้น มารดาบิดาเป็นต้น ไม่ได้ทำให้เจ้า เจ้าทำเอง ก็จักเสวยวิบากของกรรมนั้นเอง เมื่อยมราชว่าดั่งนี้แล้วก็นิ่งอยู่



นายนิรยบาลทั้งหลายก็จะทำกรรมกรณ์ มีพันธนะ (การผูกตรึง หรือจองจำ) ๕ อย่าง ได้แก่ ตรึงดุ้นเหล็กอันร้อนที่มือ ๒ ข้าง ที่เท้า ๒ ข้าง และที่กลางอก เขาเสวยเวทนาเผ็ดร้อน แต่ไม่ทำกาลกิริยาจนกว่าบาปกรรมนั้นจะสิ้นไป ต่อจากนี้แสดงวิธีทรมานที่ยิ่งขึ้นไป คือ


๑. นายนิรยบาลถากด้วยผึ่ง


๒. จับตัวให้หัวห้อยเท้าชี้ฟ้า ถากด้วยพร้า


๓. เอาตัวเทียมรถให้วิ่งไปวิ่งมาบนพื้นอันร้อนโชน


๔. ให้ขึ้นภูเขาถ่านเพลิงอันร้อนโชน


๕. จับตัวเอาหัวห้อยเท้าชี้ฟ้า ทิ้งลงไปในโลหกุมภี (หม้อเหล็ก) อันร้อนโชน ถูกเคี่ยวอยู่ในนั้นผุดเป็นฟอง ผุดขึ้นข้างบนบ้าง จมลงข้างล่างบ้าง รี ๆ ขวาง ๆ บ้าง แต่ก็ไม่ตาย


ต่อจากนี้แสดงถึงมหานิรยะ ว่า นานิรยบาล ใส่ลงไปในมหานิรยะ (นรกใหญ่) ได้แก่ อเวจีนรก ซึ่งเป็นนรกใหญ่ขุมที่ ๘ ที่กล่าวแล้ว) นรกใหญ่นั้นมีสัณฐานเป็น ๔ เหลี่ยม มี ๔ ประตู (ด้านละ ๑ ประตู) ภายในจัดเป็นส่วน ๆ มีกำแพงเหล็กล้อมครอบข้างบนด้วยเหล็ก พื้นเป็นเหล็กร้อนโชนเป็นเปลวไฟแผ่ไป ๑๐๐ โยชน์ โดยรอบ เปลวไฟเกิดจากฝาทั้ง ๔ ทิศ พุ่งไปกระทบฝาด้านตรงกันข้าม สัตว์นรกเผาไหม้ดั่งนั้นก็ไม่ตาย บางคราวเห็นประตูด้านใดด้านหนึ่งเปิด ก็วิ่งไปเพื่อจะหนี ผิวหนัง เนื้อ เอ็นไหม้ กระดูกร้อนเป็นควัน ไปยังไม่ทันถึง ประตูปิดเสีย


           เทวทูต

          เทวทูต แปลว่า ทูตของเทวะ อะไรคือเทวะ ยกตัวอย่างว่า มัจจุ (ความตาย) ชื่อว่าเทวทูตของมัจจุ ได้แก่ทุกสิ่งที่เตือนว่าใกล้ความตายเข้าทุกที เช่น เมื่อเส้นผมบนศีรษะหงอก ก็เป็นเครื่องเตือนใจว่าใกล้ความตายแล้ว ผมหงอกจึงเป็นเทวทูตอย่างหนึ่ง ทุก ๆ สิ่งที่เป็นลักษณะแห่งเกิด แก่ เจ็บ ตาย และราชทัณฑ์ ชื่อว่าเทวะทั้งนั้น และเพราะเป็นเครื่องเตือนใจเหมือนอย่างทูตมาบอกข่าว จึงเรียกว่า เทวทูต

           อีกอย่างหนึ่ง เทวทูต แปลว่า ทูตเหมือนเทพยดา คล้ายคำว่า ทูตสวรรค์ คือ เหมือนเทวดามาบอกเตือนให้ไม่ประมาท อีกอย่างหนึ่ง เทวทูต แปลว่า ทูตของวิสุทธิ-เทพ หมายถึงพระอรหันต์ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เพราะได้สอนให้พิจารณาเนือง ๆ เพื่อความไม่ประมาท ฉะนั้น เมื่อเห็นเทวทูต ก็ย่อมจะไม่ประมาทและเว้นทุจริตต่าง ๆ ได้ ส่วนคนที่ประพฤติทุจริตต่าง ๆ นั้น ก็เพราะไม่เห็นเทวทูตมาตักเตือนใจ จึงเป็นผู้ประมาทมัวเมาต่าง ๆ แม้จะได้พบเห็นคนเกิด แก่ เจ็บ ตาย และคนถูกลงราชทัณฑ์ แต่ก็ไม่ได้ข้อเตือนใจ เทวทูตก็ไม่ปรากฏ เรียกว่าไม่เห็นเทวทูตนั่นเอง ฉะนั้น คนที่ทำบาปทุจริตทั้งปวงเรียกว่าไม่เห็นเทวทูตทั้งนั้น ตามที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า เทวทูตไม่อาจจะเห็นได้ด้วยตาธรรมดา จะเห็นได้ด้วยตาปัญญา เช่นเดียวกับเทวดา (ตามที่เชื่อถือกัน) ตาธรรมดามองไม่เห็น น่าจะเรียกว่าเทวทูต เพราะมีแยบยลดั่งกล่าวนี้ด้วย


         ครั้นยมราชซักแล้ว ปรากฏว่าผู้นั้นไม่เห็นเทวทูต คือได้ทำบาปทุจริตแล้ว ก็นิ่งอยู่หาได้สิ่งให้ลงโทษอย่างไรไม่ การที่ซักถามนั้น ก็เป็นเงื่อนให้คิดว่า เตือนให้ระลึกถึงบุญกุศลคือความดีที่ได้ทำมาแล้วด้วยความไม่ประมาท เพราะได้เห็นเทวทูตในบางครั้งคราว ถ้าไม่ได้ทำกุศลไว้บ้างเลย ก็เป็นการจนใจช่วยไม่ได้ ดูยมราชก็จะช่วยอยู่ เท่ากับเป็นตัวสตินั่นเอง แต่เมื่อช่วยไม่ได้ ไม่ได้สติที่จะระลึกคติธรรมดาและบุญกุศลบ้างเลยแล้ว ก็จำต้องนิ่งอยู่ เหมือนอย่างวางอุเบกขาปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ยมราชจึงไม่ต้องสั่งลงโทษสัตว์ผู้ทำบาปต้องเป็นตามกรรมของตนเอง ตามหลักกรรมในพระพุทธศาสนา เทวทูตสูตร นี้จึงแฝงคติธรรมที่สุขุมมาก แต่แสดงเป็นปุคลาธิษฐาน คือตั้งเรื่องขึ้นเป็นบุคคลมีตัวตนและแสดงนรกตามเค้าคติความคิดเรื่องนรกในชาดกดั่งกล่าวนั่นแหละ แต่ปรับปรุงรวบรัดเข้า

           มหานิรยะที่กล่าวในเทวทูตสูตรก็คือ อวีจินีรยะ หรือ อเวจีนรก อเวจีในชาดกสำหรับบาปหนัก แต่มหานิรยะในพระสูตรเป็นนรกกลางสำหรับบาปทั่วไป เพราะมิได้ระบุประเภท ชนิดของบาปไว้ ทั้งในพระสูตรนี้ยังเอื้อถึงกฎหมายบ้านเมือง แสดงราชทัณฑ์เป็นเทวทูตอย่างหนึ่ง เพราะแม้จะไม่คำนึงถึงคติธรรมดา นึกถึงกฎบ้านเมือง เกรงราชทัณฑ์ ก็ยังช่วยให้ละเว้นทุจริตต่าง ๆ ตามกฎหมายได้ เป็นเค้าเงื่อนให้เห็นความสัมพันธ์แห่งชาติและศาสนาเหมาะดีอยู่ และในเทวทูตสูตรนั้นไม่ได้กล่าวว่านรกอยู่ที่ไหน ต่างจากคติที่กล่าวว่านรกอยู่ใต้แผ่นดินนี้ลงไป ซึ่งพระอาจารย์นำมาอธิบายนรกที่กล่าวในชาดก พิจารณาดูจะเห็นได้ว่า คติความคิดว่านรกอยู่ใต้พื้นแผ่นดิน น่าจะเป็นของเก่ากว่า คือ เก่าแก่มาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล เช่นเดียวกับคติเรื่อง กัป กัลป์ และ ๔ ทวีป แล้วจึงเปลี่ยนแปลงมาเป็นคติความคิดที่ไม่แสดงว่าอยู่ที่ไหน ทั้งในพระสูตรนั้นกล่าวว่า สัตว์นรกไม่ตายจนกว่าจะสิ้นกรรม ต่างจากที่พระอาจารย์อธิบายในชาดกว่าตายแต่เกิดอีกทัน

          นรกรอบนอก


บางคราวสัตว์นรกหนีออกไปได้ทางประตูใดประตูหนึ่ง แต่ก็ไปตกนรกใหญ่ ซึ่งมีอยู่หลายนรกด้วยกัน ตั้งอยู่ถัดกันออกไปโดยลำดับ คือ


         ๑. คูถนิรยะ แปลว่า นรกคูถ มีสัตว์ปากแหลมเหมือนอย่างเข้มพากันบ่อนผิวหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อกระดูก เจ็บปวดรวดร้าวยิ่งนัก แต่ก็ไม่ตาย


         ๒. กุกกุลนิรยะ แปลว่า นรกเถ้ารึง อยู่ถัดจากนรกคูถไป เต็มไปด้วยถ่านเพลิง มีเปลวแรงร้อน สุมเผาให้เร่าร้อน แต่ก็ไม่ตาย


         ๓. สิมพลีวนนิรยะ แปลว่า นรกป่าไม้งิ้ว อยู่ถัดจากนรกเถ้ารึงไป มีป่างิ้วใหญ่ แต่ละต้นสูงตั้งโยชน์ มีหนามยาว ๑๖ นิ้ว ร้อนโชน ถูกให้ปีนขึ้นปีนลงต้นงิ้ว ถูกหนามทิ่มแทงเจ็บปวดร้อนแรง แต่ก็ไม่ตาย


         ๔. อสิปัตตวนนิรยะ แปลว่า นรกป่าไม้มีใบคมดุจดาบ เมื่อถูกลมพัดก็บาดมือ เท้า ใบหูและจมูก ให้เกิดทุกขเวทนาเผ็ดร้อน แต่ก็ไม่ตาย

         ๕. ขาโรทกนทีนิรยะ แปลว่า นรกแม่น้ำด่างหรือน้ำกรด อยู่ถัดไปจากนรกป่าไม้มีใบคมดุจดาบ เป็นที่ตกลงลอยไปตามกระแสบ้าง ทวนกระแสบ้าง รี ๆ ขวาง ๆ เสวยทุกขเวทนาเผ็ดร้อน แต่ก็ไม่ตาย นายนิรยบาลเอาเบ็ดเกี่ยวขึ้นมาบนบก ถามว่าอยากอะไร เขาบอกว่าหิว นายนิรยบาลเอาขอเหล็กแดงงัดปาก ยัดก้อนเหล็กแดงเข้าไป ไหม้ริมฝีปาก ไหม้ปาก คอ อก พาเอาไส้ใหญ่ไส้น้อยออกมาทางเบื้องล่าง แต่ถ้าบอกว่ากระหาย นายนิรยบาลงัดปากเอาทองแดงละลายคว้างกรอกเข้าไปในปาก เผาอวัยวะที่ที่กล่าวแล้วนำออกมาเบื้องล่าง เสวยทุกขเวทนาเผ็ดร้อน แต่ก็ไม่ตาย (นรกแม่น้ำด้างนี้ เรียกว่า นรกแม่น้ำเวตรณี ชื่อเดียวกับนรกบริวารในชาดกที่กล่าวแล้ว) นายนิรยบาลเอาตัวใส่เข้าไปในมหานิรยะอีก ก็จะเสวยทุกขเวทนาแรงกล้าถึงเพียงนั้นก็ไม่ตายจนกว่าจะสิ้นกรรม
 
 
 
 
 
 

มนุสสภูมิ : ทวีปทั้ง ๔

มนุสสภูมิ : ทวีปทั้ง ๔

          “ทวีป” มาจากศัพท์ “ทีป” มาจากธาตุ “ทวิ + อาป” แปลว่า “ที่มีน้ำไหลไปในภูมิประเทศโดยส่วนทั้งสอง” หมายถึงที่บกซึ่งอยู่ท่ามกลางน้ำ แบ่งออกเป็น ๒ อย่างคือ “มหาทวีป” คือทวีปใหญ่ มีทวีปทั้ง ๔ คือ บุพวิเทหทวีป อมรโคยานทวีป อุตรกุรุทวีป และ ชมพูทวีป และ “ปริตรทวีป” คือทวีปเล็ก มีประมาณ ๒๐,๐๐๐ ทวีป ตั้งอยู่ ณ แผ่นดินที่ผุดขึ้นมาจากน้ำ เป็นบริวารของทวีปใหญ่ คือ แต่ละทวีปใหญ่จะมีทวีปเล็กเป็นบริวาร ๕๐๐ มหาทวีปทั้ง ๔ ได้แก่


         1. บุพพวิเทหทวีป อยู่ทางทิศตะวันออกของเขาพระสุเมร กว้างยาวประมาณ ๗,๐๐๐ โยชน์ สัณฐานกลมดังกระจกเงา ดวงหน้าของชาวทวีปนี้ดังเดือนเพ็ญและกลมดังหน้าแว่น มีอายุยืนได้ ๑๐๐ ปีจึงตาย ฝูงคนมากมาย มีท้าวพญานายบ้านนายเมือง มีแม่น้ำใหญ่น้อย เมืองใหญ่น้อย มีเงินมาก มีปริมณฑลรอบ ๒๑,๐๐๐ โยชน์


         2. อมรโคยานทวีป อยู่ทางทิศตะวันตกของเขาพระสุเมร สัณฐานดังอัฒจันทร์ ดวงหน้สของชาวบุพพวิเทหทวีปนี้ดังเดือนแรม ๘ ค่ำ มีอายุยืนได้ ๔๐๐ ปี มีแม่น้ำใหญ่น้อย เมืองใหญ่น้อย มีแก้วผลึกมาก
 
        3. อุตรกุรุทวีป อยู่เบื้องตีนเขาพระสุเมร มีปริมณฑลรอบได้ ๓๒.๐๐๐ โยชน์ ยาวกว้าง ๘๐๐ โยชน์ สัณฐานเหมือนดั่งเป็นสี่เหลี่ยม มีใบหน้าสี่เหลี่ยม มีอายุยืนได้ ๑,๐๐๐ ปี แผ่นดินราบเรียบเสมอกัน ต้นไม้แตกกิ่งก้านสาขาสวยงามราวกับปราสาท มีลูกมีดอกอยู่เสมอ คนรูปร่างไม่สูงไม่ต่ำ ไม่อ้วนไม่ผอม กำลังงาม ทำไร่นาค้าขาย มีข้าวสารที่เป็นข้าวสารออกมา ใส่หม้อทอง นำตั้งบนก้อนหินชื่อ “โชติปราสาท” หรือ “โชติปาสาณ” ข้าวจะสุกและไฟจะดับได้เอง กินข้าวนี้ไม่เจ็บไม่ไข้ มีต้นกัลปพฤกษ์ ผูใดปรารถนาสิ่งใดก็ได้สิ่งนั้น



        4. ชมพูทวีป อยู่เบื้องหัวนอนเขาพระสุเมร ยาวกว้างได้ประมาณ ๑๐,๐๐๐ โยชน์ มนุษย์จะอยู่ในที่ประมาณ ๓,๐๐๐ โยชน์เท่านั้น เพราะน้ำท่วมเป็นเนื้อที่ ๔,๐๐๐ โยชน์ อีกประมาณ ๓,๐๐๐ โยชน์ เป็นป่าหิมพานต์ตั้งอยู่ ชมพูทวีปมีสัณฐานเหมือนเกวียน ดวงหน้าของคนในทวีปนี้เหมือนดุมเกวียน มีนครรวมทั้งสิ้น ๑๘๙,๐๐๐ นคร ฝูงคนมากมาย มีท้าวพญาปกครอง อายุคนกำหนดไม่ได้ ถ้ามีศีลมีธรรม เคารพยำเกรงผู้ใหญ่ก็จะอายุยืน แต่ถ้าตรงข้ามอายุก็จะถอยลงมาเรื่อย ๆ